ธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันต้องการ

สวัสดีครับ เชื่อว่าเกษตรกรหลายๆท่านคงเคยประสบปัญหาสภาพต้นและใบปาล์มที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ใบเหลือง ใบซีด ใบหัก ใบตะขอ เป็นต้น ซึ่งแท้จริงแล้วนอกจากโรคและแมลงที่มารบกวนสวนปาล์มของเรานั้น อาการเหล่ายังมีอีกสาเหตุ ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่ปาล์มน้ำมันของเราได้รับธาตุอาหารที่ไม่เพียงพอ ต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นวันนี้..ซีพีไอ ไฮบริด ขอนำเสนอแร่ธาตุอาหารที่สำคัญต่อปาล์มน้ำมัน เอาไว้โดยย่อดังนี้ครับ

ตารางการใส่ปุ๋ย ปาล์มน้ำมัน

ทองแดง

ทองแดง, สังกะสี, copper, zinc, ปาล์มน้ำมัน

ทองแดง (Copper) มาจากภาษาลาตินที่ว่า Cuprum หมายถึง ของที่มาจากเกาะ Cyprus ทองแดงเป็นธาตุที่นำมาใช้ประโยชน์มาแล้วมากกว่า 10,000 ปี มีการค้นพบเครื่องประดับที่ทำจากทองแดงทางตอนเหนือของประเทศอิรัก ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีอายุประมาณ 8,700 ก่อนคริสต์กาล
ทองแดง มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์ในยุคทองแดง (chalcolithic) มนุษย์มีการนำมาทำเป็นอาวุธ สิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับต่างๆ
ด้านสุขภาพ ทองแดงมีความสำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช


ธาตุทองแดง
สำหรับในพืช ถือเป็นจุลธาตุที่พืชต้องการในปริมาณที่น้อยแต่ขาดไม่ได้ ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์การสังเคราะห์แสง และเป็นองค์ประกอบของเอ็นไซม์ที่สำคัญบางชนิด

ทองแดง ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ มีรายงานว่าต้นปาล์มที่ขาดธาตุสังกะสีและทองแดง จะติดเชื้อโรคโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อกาโนเดอร์มา (Ganoderma spp.) ได้มากกว่าต้นที่ได้รับธาตุสังกะสีและทองแดงอย่างเพียงพอ

ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในดินพรุหรือดินทรายล้วน ส่วนใหญ่จะขาดธาตุทองแดง โดยอาการที่บ่งบอกคือใบอ่อนจะเริ่มมีสีขาว-เหลืองซีด มีจุดสีเหลืองหรือน้ำตาลบนใบ ถ้า อาการรุนแรงมาก ใบจะหยุดการเติบโตและขอบใบแห้ง จึงควรใส่ธาตุทองแดง (คอปเปอร์ซัลเฟต) การเสริมธาตุทองแดงให้แก่ต้นปาล์มน้ำมัน ควรใส่โดยพิจารณาจากค่าวิเคราะห์เคมีของใบ โดยวิธีการใส่จุลธาตุก็หว่านไปบนกองทางเช่นเดียวกับปุ๋ยเคมี โดยใส่ให้กับต้นปาล์มทุกปี จำนวน 30-50 กรัม/ต้น/ปี ปริมาณมากน้อยให้พิจารณาจากค่าวิเคราะห์เคมีของใบควบคู่ไปด้วย

การให้แม่ปุ๋ยที่ให้ธาตุทองแดงและสังกะสี เช่น สูตร 15%Copper+ 10%Zinc (Copper Zinc OxySulphate)

 

โบรอน

โบรอน, ปาล์มน้ำมัน, ธาตุอาหาร, โบรอนใส่ปาล์ม
โบรอน

โบรอน (boron) คืออะไร โบรอนในภาษาอารบิก เรียก Buraq หมายถึงสีขาว และภาษาเปอร์เซีย เรียกว่า Burah พบบันทึกว่ามีการนำโบรอนมาใช้ประโยชน์ ทั้งชาวบาบิโลนชาวอาหรับ และชาวจีน ในจีนนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 300 โดยใช้ประโยชน์เป็นน้ำยาเคลือบเงา จากนั้น ค.ศ. 700 มีการขนส่งโบรอนไปสู่เปอร์เซีย และ Jābir ibn Hayyān นักเคมีชาวเปอร์เซีย ก็ทำให้โบรอนได้เป็นที่รู้จักในแถบนั้น ต่อมา Marco Polo ได้ซื้อน้ำยาเคลือบเงาจากโบรอนนี้กลับไปที่อิตาลี ซึ่งต่อมา ในปี ค.ศ. 1808 Joseph Louis Gay-Lussac และ Louis Jacques Thénard นักเคมีวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้ทำการสกัดโบรอนออกมาจากกรดบอริก โดยทำปฏิกิริยากับแมกนีเซียมหรือโซเดียม เวลาต่อมา Sir Humphry Davy นักเคมีชาวอังกฤษ พยายามแยกธาตุโบรอน โดยวิธี electrolysis แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเขาก็สามารถแยกโบรอนได้โดยการนำกรดบอริกไปทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนในอากาศ และตั้งชื่อสารที่ได้ว่า boracium แต่มีความบริสุทธิ์เพียง 60% จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1909 Ezekiel Weintraub นักเคมีชาวอเมริกัน สามารถผลิตโบรอนที่บริสุทธิ์ได้ถึง 99%

ธาตุโบรอน สามารถอยู่ในรูปของสารประกอบได้หลายชนิด เช่น
● Sodium borate pentahydrate (Na2B4O7·5H2O) ใช้ในการผลิตฉนวนกันความร้อนใยแก้ว

● กรดบอริค (boric acid, H3BO3) ใช้ในการผลิตสิ่งทอไฟเบอร์กลาส และใช้เป็นฉนวนเซลลูโลสกันไฟ
● Sodium borate decahydrate (Na2B4O7·10H2O) หรือบอแรกซ์ ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อที่ไม่รุนแรง

โบรอน จัดเป็นจุลธาตุที่มีความจำเป็น ช่วยในการแบ่งเซลล์และขยายขนาด การพัฒนาของราก การเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรต/น้ำตาล  “โบรอน” ช่วยในการงอกของละอองเกสรจึงมีผลต่อการผสมพันธุ์ (pollination) และการพัฒนาของผลปาล์ม และยังช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต และทำให้มีการดูดซับธาตุแคลเซียมได้ดีขึ้น

โบรอน ที่ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืช มีได้หลายรูปแบบ เช่น กรดบอริก, Sodium borate หรือ Sodium calcium borate โบรอนเคลื่อนที่ในพืชผ่านทางท่อน้ำ (xylem) การเคลื่อนย้ายธาตุโบรอนจึงเป็นไปตามอัตราการคายน้ำของใบ

โบรอน ถือเป็นจุลธาตุ ที่มีความจำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมาก ทั้งช่วยในการผสมเกสร การติดผล การแบ่งเซลล์ ต้นปาล์มที่ขาดโบรอน ปลายใบจะแสดงอาการหักเป็นรูปตะขอ และย่นหรือหงิก ต้นปาล์มน้ำมันนั้นต้องการโบรอนชัดเจน จึงควรใส่โบรอนทุกปีโดยเฉพาะเมื่อใบแสดงอาการขาด โดยใส่ในรูปของปุ๋ยทางดิน และสามารถใส่ร่วมกับปุ๋ยสำหรับปาล์มน้ำมันอื่นๆ (ชื่อทางการค้าของปุ๋ยโบรอน เช่น Fertibor หรือ Quibor มี 15%B)

โดยค่ามาตรฐานในการใส่โบรอนแก่ต้นปาล์มน้ำมัน คือ ปริมาณ 50-100 กรัม/ต้น/ปี
หรือเพิ่มเป็น 100-200 กรัม/ต้น/ปี ในกรณีที่ต้นปาล์มน้ำมันแสดงอาการขาดโบรอนอย่างรุนแรง (ควรมีการวิเคราะห์ใบเพื่อตรวจสอบปริมาณโบรอนในพืชว่าพอเพียงหรือไม่)

อ่านบทความ : โบรอน คืออะไร? มีความสำคัญต่อปาล์มน้ำมันอย่างไร?

 

 

โพแทสเซียม

โพแทสเซียม ปาล์มน้ำมันโพแทสเซียม ในปี ค.ศ. 1807 Sir Humphry Davy นักเคมีชาวอังกฤษ ได้สกัดธาตุโพแทสเซียมจากโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ โดยวิธี electrolysis ด้วยอุปกรณ์ที่เขาสร้างขึ้น โพแทสเซียมจึงเป็นธาตุชนิดแรกที่สกัดได้ด้วยวิธีนี้ หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเขาก็ได้สกัดธาตุโซเดียม ด้วยวิธีการเดียวกัน ชื่อ Potassium มาจากภาษาอังกฤษ ที่ว่า Potash สัญลักษณ์ K มาจากคำว่า Kalium ที่ใช้ในเยอรมันและสแกนดิเนเวีย

โพแทสเซียม ในทางการเกษตร พืชจะดูดโพแทสเซียมจากดินในรูปโพแทสเซียมไอออน(K+) โพแทสเซียมเป็นธาตุที่รวมตัวกับธาตุอื่นได้ดี หรือถูกยึดในชั้นดินเหนียว ทำให้พืชนำไปใช้ได้ยากบทบาทของโพแทสเซียมที่มีต่อพืช คือ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ ช่วยในการสร้างแป้ง ช่วยในการสังเคราะห์แสง ช่วยลำเลียงสารอาหาร และช่วยรักษาสมดุลกรดและด่างในเซลล์

ต้นปาล์มที่ขาดธาตุโพแทสเซียม ใบจะเป็นจุดสีส้ม กระจายทั่วแผ่นใบ แม่ปุ๋ยที่ให้ธาตุโพแทสเซียม เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ KCl (0-0-60) โพแทสเซียมซัลเฟต K2SO4 (0-0-50) ปุ๋ย KCl ผลิตจากแร่ซิลวาไนต์ (KCl.NaCl) โดยนำมาบดให้ละเอียด แล้วละลายในน้ำ ที่มีอุณหภูมิประมาณ 90องศาเซลเซียส เติมสารละลาย NaCl ที่อิ่มตัวลงไป จากนั้นระเหยน้ำออกจนกระทั่ง KCl ตกผลึกออกมา หรืออาจจะผลิตจากน้ำทะเล โดยนำน้ำทะเลมาระเหยจน NaCl ตกผลึก แล้วแยก NaCl ออก ระเหยน้ำต่อจน KCl ตกผลึก

ต้นปาล์มน้ำมันขาดธาตุโพแทสเซียม แก้ไขโดยการให้แม่ปุ๋ยที่ให้ธาตุโพแทสเซียม เช่น ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ สูตร 0-0-60

อ่านบทความ : โพแทสเซียม – ธาตุสำคัญที่ปาล์มขาดไม่ได้!
อ่านบทความ : อาการธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมไม่สมดุล

 

ฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัส, ฟอสเฟต, 0-3-0, ปาล์มน้ำมันฟอสฟอรัส Hennig Brand นักเคมีวิทยา ค้นพบธาตุฟอสฟอรัส (phosphorus) เมื่อปี ค.ศ. 1669 ที่เมือง ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน (347 ปีมาแล้ว ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา) ซึ่งเตรียมมาจากยูเรีย เขาเรียกสารที่ค้นพบนี้ว่า “cold fire” เพราะสามารถเรืองแสงได้ในที่มืด ในสมัยก่อนภาษาไทยเรียกฟอสฟอรัสว่า “ฝาสุภเรศ”
ฟอสฟอรัส เป็นธาตุอาหารที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นองค์ประกอบของ DNA RNA ATP และ Phospholipids สำหรับพืชจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของราก โดยธาตุฟอสฟอรัสจะช่วยให้รากพืชแข็งแรง และแผ่กระจายได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ลำต้นแข็งแรงตามไปด้วย อาการอย่างหนึ่งของต้นปาล์มที่ขาดฟอสฟอรัสคือลำต้นแคระแกรน

ฟอสฟอรัส เป็นธาตุที่ละลายน้ำยาก และถูกตรึงได้ง่ายเมื่อทำปฏิกิริยา กับธาตุชนิดอื่นในดิน การใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ในรูปของหินฟอสเฟต (0-3-0) หรือ CIRP (Christmas Island Rock Phosphate) ซึ่งนำเข้าจากเกาะคริสต์มาส ของประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับการใส่อินทรียวัตถุ เช่น ในสวนปาล์มน้ำมัน จะใช้ทางใบปาล์มที่ตัดออกจากต้นแล้ว วางไว้ระหว่างแถวของต้นปาล์มแบบแถวเว้นแถว เมื่อใส่ปุ๋ยลงไปที่กองทางจุลินทรีย์มาช่วยย่อยธาตุฟอสฟอรัสให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ก่อนที่รากปาล์มจะดูดไปใช้ ก็เป็นอีกวิธีปฏิบัติหนึ่งสำหรับการใส่ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพ

สูตรการให้แม่ปุ๋ยที่ให้ธาตุฟอสเฟต เช่น หินฟอสเฟต สูตร 0-3-0

อ่านบทความ : การจัดการธาตุฟอสฟอรัสในปาล์มน้ำมัน

 

แมกนีเซียม

แมกนีเซียม, ปาล์มน้ำมันแมกนีเซียม หรือ (Mg) แม้เป็นธาตุอาหารรอง แต่ปาล์มน้ำมันมีความต้องการมากเป็นอันดับต้นๆ แมกนีเซียมมีส่วนสำคัญช่วยในการสังเคราะห์แสง ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างอาหาร หากขาดจะทำให้ปาล์มดูดซึมอาหารน้อยลง ต้นอ่อนแอ มีการใช้ธาตุอาหารอื่นๆ ได้น้อยลง
แมกนีเซียม เป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบของโมเลกุลคลอโรฟิลล์ ที่ทําให้พืชสามารถใช้พลังงานแสงเพื่อสร้างคาร์โบไฮเดรทเพื่อการเจริญเติบโต ปริมาณแมกนีเซียมใน คลอโรฟิลล์มี 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ แมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบที่สําคัญและช่วยเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์ ในพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในกระบวนการสร้างเมตาโบลิซึมต่าง ๆ
แมกนีเซียมในการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน กระบวนการทางชีวเคมีเพื่อการสร้างกรดไขมันต้องการแมกนีเซียม เป็นปริมาณมาก ถ้าปาล์มได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอจะทําให้สร้างน้ํามันน้อยลง ผลผลิตน้ํามันในผลปาล์มที่ลดลงนี้เกิดขึ้นก่อนที่พืชจะแสดงอาการขาดให้เห็นทางใบ

ลักษณะอาการขาดแมกนีเซียม ใบย่อยทางใบล่างจะมีสีเหลืองแถบยาว แต่เส้นใบยังเป็นสีเขียว หากขาดมากใบจะเริ่มแห้ง ไหม้ ผลผลิตลดลง

ด้วยเหตุนี้จึงจําเป็นจะต้องมีการใส่แมกนีเซียมในช่วงเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือช่วงก่อนฤดูฝน ในทาง
ปฏิบัติปุ๋ยที่ให้แมกนีเซียมที่สําคัญ มี 2 ชนิดคือ
1. แมกนีเซียมที่อยู่ในรูปซัลเฟต ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยกีเซอร์ไรท์ (MgSO4H2O) ซึ่งมี MgO 27 เปอร์เซ็นต์
2. ในรูปคาร์บอเนต ซึ่งเป็นปูน ได้แก่ แมกนีไซท์ (MgCO3) และโดโลไมท์ (MgCo3 CaCO3)
ในบางสภาพของสวนปาล์ม อาทิ สวนปาล์มที่ปลูกในดินกรด ควรจะมีการใส่แมกนีเซียมในทั้ง 2 รูปสลับกันไป

อ่านบทความ : แมกนีเซียม สำคัญต่อปาล์มน้ำมันอย่างไร??

 

ไนโตรเจน

ฟอสฟอรัส ปาล์มน้ำมันไนโตรเจน หรือ (N) คือธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการแตกใบอ่อน ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปาล์ม ต้นใหญ่ โตเร็ว  การเจริญเติบโตของใบและทรงพุ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนทะลายเพิ่มมากขึ้น
แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไปจะทำให้ต้นอ่อนแอ ทางใบอวบน้ำ มีความต้านทานโรคน้อยลง

สภาพดินที่มักพบการขาดธาตุ
ไนโตรเจน เช่น  ดินบริเวณน้ำท่วมขัง  ดินระบายน้ำไม่ดี  ดินทรายจัด ดินที่มีวัชพืช เช่น หญ้าคาเยอะ 


อาการขาดไนโตรเจน
: ต้นเล็กทรงพุ่ม เป็นสีเหลืองซีด ใบไม่เขียวเข้ม

ต่อไปจะเหลืองทั้งต้น ทางใบสั้นแกร็น ต้นโตช้า ทะลายเล็กลง ปริมาณน้ำมันน้อย

การให้แม่ปุ๋ยไนโตรเจน คือ ใช้แม่ปุ๋ยไนโตรเจนในรูป เช่น แอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งเป็นไนโตรเจนที่จะไม่ระเหิดหายกับไปกับแสงแดด และปาล์มน้ำมันสามารถนำไปใช้ได้ทันทีในรูปไนเตรท

อ่านบทความ : ไนโตรเจน มีความสำคัญต่อปาล์มน้ำมันอย่างไร?

 

 

สังกะสี

สังกะสี, จุลธาตุ
สังกะสี (Zinc, Zn)

สังกะสี หรือ (Zn) สังกะสี มีส่วนช่วยในกิจกรรมต่างๆ ของปาล์มน้ำมันระดับเซลล์ เช่น การสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรตและโปรตีน “สังกะสี” ช่วยในการพัฒนาละอองเกสร ช่วยในการสร้างฮอร์โมนออกซิน (auxin) ซึ่งควบคุมการเติบโตและการขยายขนาด การขาดธาตุสังกะสีจึงมีผลกระทบต่อระดับผลผลิต
สังกะสี จัดเป็นจุลธาตุที่มีโอกาสขาดได้ง่าย การใส่ควรใส่โดยพิจารณาจากค่าวิเคราะห์เคมีของใบ และควรใส่โดยวิธีการหว่านไปบนกองทางใบ

 

 

 

ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน, ปุุ๋ยสำหรับปาล์มน้ำมัน, ปุ๋ยเคมี, ปุ๋ยใส่ปาล์ม, ปุ๋ยปาล์มที่ดีที่สุด, ปุ๋ยใส่ปาล์มยี่ห้อไหนดี, ปาล์มน้ำมัน, ธาตุอาหาร, ปุ๋ยใส่ต้นปาล์ม, ปลูกปาล์ม, ปุ๋ยยูเรีย, ปุ๋ยสำเร็จรูป, ไนโตรเจน,ฟอสฟอรัส,โพแทสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, กำมะถัน, โบรอน, ทองแดง, สังกะสี, ปุ๋ยบำรุงปาล์ม, การให้ปุ๋ย, การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน
ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน “ซีพีไอ พลัส” ปุ๋ยที่วิจัยจากความต้องการของต้นปาล์มนำ้มัน – โทร. 077-975-222

เหล่านี้ล้วนเป็น จุลธาตุ แร่ธาตุ อันจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน ดังนั้นเราจึงควรมั่นตรวจสอบต้นปาล์มของเราอย่างสม่ำเสมอว่ามีลักษณะอาการที่บ่งบอกถึงการขาดแร่ธาตุเหล่านี้หรือไม่ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป ไม่ว่าจะเป็น การปรับสภาพดิน การปรับสัดส่วนแร่ธาตุในปุ๋ย เป็นต้น เพื่อให้ต้นปาล์มน้ำมันนั้นสมบูรณ์ออกผลผลิตได้ดีทั้งปริมาณและมีคุณภาพ


แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน