จุลธาตุที่จำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมัน..มีอะไรบ้าง??
จุลธาตุ
จุลธาตุ คือ อะไร?
จุลธาตุ (trace element, TE หรือ micronutrient) คือ ธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้เพื่อการเจริญเติบโตให้ครบวงจรชีวิตอย่างสมบูรณ์ พบว่าจุลธาตุปรากฏในมวลส่วนต่างๆ ของพืช เพียง 0.02 เปอร์เซ็นต์เชิงมวลแห้ง เท่านั้น จึงต้องใส่ในปริมาณที่น้อย อย่างต่อเนื่องและขาดไม่ได้ เมื่อพืชขาดจุลธาตุหรือได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบกับพืช เช่น ทำให้เติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพของสายพันธุ์ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ผลผลิตลดลง จุลธาตุที่จำเป็นสำหรับพืชมี 7 ชนิด คือ โบรอน (B), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu), เหล็ก (Fe), แมงกานิส (Mn), โมลิบดินัม (Mo) และคลอรีน (Cl)
จุลธาตุ มาจากไหน?

ขอบคุณภาพจาก : https://pantip.com/topic/33832337
จุลธาตุตามธรรมชาติ มาจากสารต้นกำเนิดดิน คือหินและแร่ จุลธาตุเป็นส่วนประกอบของแร่ประกอบหินที่ให้กำเนิดหินอัคนี (igneous rock) ซึ่งเกิดจากแมกมา (magma) ใต้เปลือกโลกปะทุขึ้นมาเป็นลาวา (lava) เหนือผิวดิน พบว่าประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของเปลือกโลกเป็นหินอัคนี พื้นที่เฉพาะบางแห่ง ดินอาจได้รับจุลธาตุจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรมหรือการทำเหมืองแร่

ที่มา : http://www.lesa.biz/earth/lithosphere/rocks/igneous-rocks
จุลธาตุที่จำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมัน
จุลธาตุที่จำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมัน..ผลจากการวิเคราะห์ความเข้มข้นของธาตุอาหารในใบของปาล์มน้ำมัน พบว่าปาล์มน้ำมันต้องการจุลธาตุ 3 ชนิด อย่างชัดเจนต่อเนื่อง คือ โบรอน สังกะสี และทองแดง ซึงมีความสำคัญ ดังต่อไปนี้
โบรอน (Boron, B)

โบรอน เป็นจุลธาตุที่มีความจำเป็น ช่วยในการแบ่งเซลล์และขยายขนาด การพัฒนาของราก การเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรต/น้ำตาล “โบรอน” ช่วยในการงอกของละอองเกสรจึงมีผลต่อการผสมพันธุ์ (pollination) และการพัฒนาของผลปาล์ม และยังช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต และทำให้มีการดูดซับธาตุแคลเซียมได้ดีขึ้น
สังกะสี (Zinc, Zn)

สังกะสี มีส่วนช่วยในกิจกรรมต่างๆ ระดับเซลล์ เช่น การสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ช่วยในการพัฒนาละอองเกสร ช่วยในการสร้างฮอร์โมนออกซิน (auxin) ซึ่งควบคุมการเติบโตและการขยายขนาด การขาดธาตุสังกะสีจึงมีผลกระทบต่อระดับผลผลิต
ทองแดง (Copper, Cu)
ทองแดง ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ มีรายงานว่าต้นปาล์มที่ขาดธาตุสังกะสีและทองแดง จะติดเชื้อโรคโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อกาโนเดอร์มา (Ganoderma spp.) ได้มากกว่าต้นที่ได้รับธาตุสังกะสีและทองแดงอย่างเพียงพอ

ปัจจัยที่มีผลต่อความเป็นประโยชน์ของจุลธาตุในดิน
- ค่ากรด-ด่าง ของดิน (soil pH) : ควรปรับค่ากรด-ด่างของดินให้อยู่ในช่วง 5.0-5.5 พืชที่ปลูกในดินด่าง (ค่า pH สูงมากกว่า 7) มักขาดจุลธาตุเพราะถูกประจุของดินยึดไว้จึงละลายออกมาได้น้อย
- อินทรียวัตถุ : จุลธาตุจะถูกปลดปล่อยออกจากดินได้ดีขึ้นเมื่อมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น จึงควรเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดินอย่างส่ำเสมอ เช่น การวางกองทางปาล์ม การคลุมดินด้วยทะลายเปล่า การใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก เป็นต้น
อ่านบทความ : ธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันต้องการ
อ่านบทความ : ปุ๋ยปาล์ม ที่ดี ควรเป็นอย่างไร? มีธาตุอะไรบ้าง? ต้องใส่เท่าไร?
อ้างอิง :
– ปัทมา วิตยากร แรมโบ. มปป. ความอุดมสมบูรณ์ของดินและโภชนาการพืช. ภาควิชาปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
– สุมิตรา ภูวโรดม. 2550. พื้นฐานการจัดการธาตุอาหารพืช. ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ.
– Hafeez, B., Y.M.Khanif and M. Saleem. 2013. Role of Zinc in Plant Nutrition-A Review. American Journal of Experimental Agriculture. 3(2): 374-391.
– Rakib, M.R.M., C.J. Bong, A. Khairulmazmi, A.s. Idris, M.B. Jalloh and O.H. Ahmed. 2017. Association of Copper and Zinc Levels in Oil Palm (Elaeis guineensis) to the Spatial Distribution of Ganoderma Species in the Plantations on Peat. Journal of Phytopathology. 6(165): 276-282.
แชร์บทความนี้