แมกนีเซียม

แมกนีเซียม, ปาล์มน้ำมัน

แมกนีเซียม หรือ (Mg) แม้เป็นธาตุอาหารรอง แต่ปาล์มน้ำมันมีความต้องการมากเป็นอันดับต้นๆ แมกนีเซียมมีส่วนสำคัญ ช่วยในการสังเคราะห์แสง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการสร้างอาหาร หากขาดแมกนีเซียมจะทำให้ปาล์มดูดซึมอาหารน้อยลง ต้นอ่อนแอ มีการใช้ธาตุอาหารอื่นๆ ได้น้อยลง

แมกนีเซียม เป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบของโมเลกุลคลอโรฟิลล์ ทําให้พืชสามารถใช้พลังงานแสงเพื่อสร้างคาร์โบไฮเดรทเพื่อการเจริญเติบโต ปริมาณแมกนีเซียมในคลอโรฟิลล์มี 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ แมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบที่สําคัญและช่วยเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์ ในพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในกระบวนการสร้างเมตาโบลิซึมต่าง ๆ

แมกนีเซียมในการเพิ่มผลผลิตปาล์ม กระบวนการทางชีวเคมีเพื่อการสร้างกรดไขมัน ต้องการแมกนีเซียมเป็นปริมาณมาก ถ้าปาล์มได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอจะทําให้สร้างน้ำมันได้น้อยลง ผลผลิตน้ำมันในผลปาล์มที่ลดลงนี้ จะเกิดขึ้นก่อนที่พืชจะแสดงอาการขาดให้เห็นทางใบ

การให้ปุ๋ยแมกนีเซียม, ดิน, แมกนีเซียม, ปาล์มน้ำมัน, แม่ปุ๋ยแมกนีเซียม, ความต้องการปุ๋ยแมกนีเซียม
ตารางเปรียบเทียบ
ความต้องการธาตุอาหารของปาล์มน้ำมันและข้าว
ในการสร้างผลผลิต

 

ลักษณะอาการขาดแมกนีเซียม

ใบปาล์มเหลือง, ขาดแมกนีเซียม, ใบปาล์มเหลือง เส้นใบเขียว, ปู๋ยแมกนีเซียม, ปาล์มน้ำมัน
อาการปาล์มน้ำมันขาดแมกนีเซียม ใบย่อยทางใบล่างจะมีสีเหลืองแถบยาว แต่เส้นใบยังเป็นสีเขียว

อาการที่แสดงออกคือ ทางใบล่างมีสีเหลืองแถบยาว เริ่มจากปลายใบและขอบใบย่อย บริเวณที่มีสีเหลืองจะเห็นชัดเมื่อถูกแสงแดง แต่เส้นใบยังเป็นสีเขียว
หากขาดมากใบจะเริ่มแห้ง ไหม้ และผลผลิตลดลง

ความต้องการของแมกนีเซียมของปาล์ม เมื่อปาล์มแสดงอาการขาดแมกนีเซียมให้เห็นนั่นแสดงว่า ปาล์มได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอมาเป็นเวลานานแล้ว และผลผลิตได้ลดลงแล้วเช่นกัน การป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น กระทําได้โดยเก็บใบปาล์มมาวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้ในการจัดการควบคุม ระดับธาตุอาหารในพืชได้อย่างเหมาะสม
ระดับแมกนีเซียมในใบปาล์มที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของปาล์มมีค่าอยู่ระหว่าง 0.3-0.4 เปอร์เซ็นต์ (Uexkull and Fairhurst, 1991)

และปาล์มจะแสดงอาการขาดแมกนีเซียมเมื่อปริมาณแมกนีเซียม ในทางใบที่ 17 ต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์
(อย่างไรก็ตามนักวิชาการในสวนปาล์มจําเป็นจะต้องเลือกเก็บทางใบ ที่ 17 ให้ถูกต้อง การเก็บใบผิดพลาดจะมีผลทําให้ค่าวิเคราะห์ผิดเพี้ยนไปได้)

แมกนีเซียมในเขตร้อนชื้นซึ่งมีปริมาณฝนสูง พบว่าแมกนีเซียมมักจะสูญเสียไปจากดินโดยการชะล้างออกไปจากหน้าดิน และโดยการชะล้างไปสู่ดินชั้นล่าง การสูญเสียแร่ธาตุต่างๆในเขตร้อนชื้นมีอยู่ตลอดเวลา มีผลทําให้ดินเป็นกรดและมีปริมาณอลูมิเนียมที่ละลายน้ำได้อยู่สูงก่อให้เกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืช  ซึ่งประมาณได้ว่า
– การสูญเสียแมกนีเซียมโดยการถูกชะล้างไปสู่ดินชั้นล่างประมาณ 0.8-4.8 กก. Mg/ไร่/ปี
– ในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก เช่น จากพื้นที่ปลูกปาล์มในประเทศมาเลเชีย พบว่าปริมาณการสูญเสียแมกนีเซียมเฉลี่ยประมาณ 0.96 กก. Mg/ไร่/ปี

 

การใส่ปุ๋ยให้แมกนีเซียม

การให้ปุ๋ยแมกนีเซียม, ดิน, แมกนีเซียม, ปาล์มน้ำมัน, แม่ปุ๋ยแมกนีเซียม
(ตัวอย่าง) ปุ๋ยแมกนีเซียม

ปาล์มน้ำมันจะดูดแมกนีเซียมได้ดีเมื่อ แมกนีเซียมที่ใส่ลงไปในดินอยู่ในรูปของอิออน (Mg2+) ทีละลายน้ำได้อยู่ในสารละลายของดิน อย่างไรก็ตามพืชจะใช้แมกนีเซียมได้ดีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ปัจจัยต่อไปนี้

1. ความเป็นกรดของดิน : ดินกรดทําให้พืชใช้แมกนีเซียมได้น้อยลง
2. ความชื้นของดิน : ถ้าดินมีความชื้นต่ํา ความเป็นประโยชน์ของแมกนีเซียมในดินจะลดลง ด้วยเหตุนี้ จึงมักจะพบอยู่เสมอว่าปาล์มน้ำมันมักจะแสดงอาการขาดแมกนีเซียมในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง การขาดจะรุนแรงมากขึ้นถ้าปาล์มได้รับโปแตสเซียมไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุนี้จึงจําเป็นจะต้องมีการใส่แมกนีเซียมในช่วงเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือช่วงก่อนฤดูฝน
ปุ๋ยที่ให้แมกนีเซียมที่สําคัญ มี 2 ชนิดคือ
1. แมกนีเซียมที่อยู่ในรูปซัลเฟต ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยกีเซอร์ไรท์ (MgSO4H2O) ซึ่งมี MgO 27 เปอร์เซ็นต์
2. ในรูปคาร์บอเนต ซึ่งเป็นปูน ได้แก่ แมกนีไซท์ (MgCO3) และโดโลไมท์ (MgCo3 CaCO3)

อนึ่ง สวนปาล์มที่ปลูกในดินกรด ควรใส่แมกนีเซียมในทั้ง 2 รูปสลับกันไป เพราะแมกนีเซียมในรูปคาร์บอเนตจะช่วยลดความเป็นกรดของดินลงได้ด้วย ซึ่งทําให้ธาตุอาหารพืชตัวอื่นที่มีอยู่ในดินละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อปาล์มน้ำมันได้มากขึ้น

สภาพดินกับการเลือกใช้ชนิดแมกนีเซียมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สภาพดิน, การให้ปุ๋ยแมกนีเซียม, ดิน, แมกนีเซียม, ปาล์มน้ำมัน, แม่ปุ๋ยแมกนีเซียม
สภาพดิน และการให้ปุ๋ยแมกนีเซียม

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปาล์มสามารถใช้และแก้ไขการขาดแมกนีเซียม
แนะนําให้ใช้ปุ๋ยกีเซอร์ไรท์ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ปาล์มเป็นพืชที่ ต้องการแมกนีเซียมเป็นปริมาณมากและสม่ำเสมอ
2. ปุ๋ยกีเซอร์ไรท์สามารถให้แมกนีเซียมได้รวดเร็วแก่ปาล์มน้ำมัน
3. ป้องกันรากปาล์มน้ำมันให้พ้นจากความเป็นพิษของอลูมิเนียม ในสภาพดินที่เป็นกรดได้ดี
4. ช่วยให้รากเจริญเติบโตไปสู่ดินชั้นล่าง ทําให้ปาล์มทนแล้งได้ดีขึ้น
5. กีเซอร์ไรท์ละลายได้ง่าย ใช้สะดวกเพียงแต่หว่านใส่บนหน้าดิน ไม่ต้องมีการพรวนดินหลังใส่
6. ไม่ทําให้ความเป็นกรดเป็นด่างของดินเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการให้ธาตุอาหารพืชอื่นๆ

อ่านบทความ : ธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันต้องการ

อ่านบทความ : สูตรใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน


อ้างอิง : เอกสารเผยแพร่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ํามัน คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,  ธีระพงศ์ จันทรนิยม, บทบาทของธาตุแมกนีเซียมในการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน