ทำสวนปาล์ม – มก. แนะวิธีจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืน

ทำสวนปาล์ม
17 มี.ค. 2558, หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ข่าวไอทีวิทยาการ – ทำมาหากิน :
มก.แนะวิธีจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืน ยกระดับ ‘ผลผลิต-เพิ่มรายได้’ เกษตรกร
: โดย…สุรัตน์ อัตตะ

สวนปาล์ม
มก. แนะวิธีจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืน

แม้สายพันธุ์ปาล์มน้ำมันและสภาพอากาศที่เหมะสมเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย หากแต่การขาดองค์ความรู้เกี่ยวการจัดการสวนปาล์มที่ถูกต้องถือเป็นปัญหาสำคัญยิ่งกว่า โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 2.5 ตันกิโลกรัม ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียสูงถึง 4.8-5 ตันต่อไร่

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาล และ ดร.กวิน ปุญโญกุล นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้เข้ามาดูแลและถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างจริงจังแก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการ “ยกระดับผลผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน” โดยการสนับสนุนของ บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด

“จะเห็นว่า การปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมาเลเซียมาตั้งแต่ปี 2536 มีผลผลิตปาล์มต่อไร่เฉลี่ย 2,523±290 กิโลกรัมเท่านั้น ถึงวันนี้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 12 ซึ่งถือว่าน้อยมาก ขณะที่มาเลเซียเขาไปไกลกว่าเรามาก ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เกษตรกรขาดองค์ความรู้ในการจัดการสวนปาล์มอย่างถูกวิธี”

ดร.กวิน เปิดเผยที่มาของผลผลิตต่อไร่ต่ำ ก่อนที่เริ่มทำการศึกษาเพื่อหาวิธีเพิ่มผลผลิตอย่างจริงจัง โดยใช้พื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของครอบครัว ซึ่งมีเนื้อที่กว่าพันไร่ใน อ.ทับปุด จ.พังงา เป็นแปลงทดลอง จนประสบความสำเร็จ สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ถึงร้อยละ 71 หรือเฉลี่ย 4.8-5.9 ตันต่อไร่ จากนั้นจึงนำสูตรใส่ปุ๋ยและวิธีการจัดการสวนมาใช้กับบริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ด้วยความช่วยเหลือของ ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์ จากศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาตั้งแต่ปี 2551 จนได้ระดับผลผลิตเฉลี่ยปี 2556 เท่ากับ 4.8 ตันต่อไร่ต่อปี โดยปาล์มน้ำมันมีอายุเฉลี่ย 20 ปี ทั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาการใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมันที่นักวิชาการไทยแนะนำไม่เพียงพอกับการเพิ่มผลผลผลิต

นักวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า สำหรับขั้นตอนการทำงานนั้น ในช่วงแรกให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการสวนปาล์ม โดยมีการกำหนดกลุ่มต้นปาล์มน้ำมันตัวแทน เพื่อใช้เก็บข้อมูลผลผลิต จำนวนทะลาย และน้ำหนักทะลาย เพื่อประเมินประสิทธิภาพการให้ปุ๋ย จากนั้นปรับวิธีการใส่ปุ๋ยใหม่ตัดแต่งทางใบ วางกองทาง การจัดการดินและการจัดการตัวเลขผลผลิต

“เริ่มแรกมีการวิเคราะห์ดิน ปรับระดับพีเอชให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ของปุ๋ยลดปริมาณปุ๋ยบางชนิดที่สะสมอยู่มากในดิน จากนั้นให้ความสำคัญในการใส่ปุ๋ย โดยการสร้างกองทางปาล์ม เพิ่มพื้นที่รากแล้วใส่ปูนโดโลไมท์บนกองทางในหน้าแล้ง ให้ห่างจากการใส่ปุ๋ยตัวอื่น 1-2 เดือน แบ่งใส่อย่างน้อย 3 ครั้งต่อปี เพื่อลดการสูญเสียแล้วมาวิเคราะห์ใบปรับอัตราปุ๋ยให้สัมพันธ์กับค่าวิเคราะห์ใบ เพื่อลดต้นทุน จากนั้นคอยติดตามประเมินผลผลิตที่เกิดขึ้น” ดร.กวิน อธิบายขั้นตอนการจัดการสวนปาล์มเพื่อเพิ่มผลผลิตตามหลักวิชาการ

เกียรติราช กังวานสุระ หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ใน ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีสวนปาล์ม 7 แปลง บนเนื้อที่กว่า 600 ไร่ โดยปาล์มน้ำมันมีอายุเฉลี่ย 6-15 ปี พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์อูติและพันธุ์จากศูนย์วิจัยปาล์มสุราษฎร์ธานี โดยเริ่มเข้าโครงการมาตั้งแต่ปี 2555 ขณะนั้นมีผลผลิตเฉลี่ย 2,558 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี หลังเข้าร่วมโครงการในปี 2557 ได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น 3,571 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 40%

“ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก ทางโครงการขอให้บริจาคเงินเข้าร่วมโครงการ “ต้นละหนึ่งบาท” ต่อปี ซึ่งถือว่าคุ้มมากเมื่อเทียบกับรายได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น” เกษตรกรคนเดิมกล่าวอย่างภูมิใจ

(คอลัมน์ ทำมาหากิน : มก.แนะวิธีจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืน ยกระดับ ‘ผลผลิต-เพิ่มรายได้’ เกษตรกร : โดย…สุรัตน์ อัตตะ)


ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก – ข่าวไอที-วิทยาการ 17 มี.ค. 2558, (www.komchadluek.net)

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน