ข่าวปาล์ม – “สมคิด”ยกเครื่องภาคเกษตร
แก้สต๊อกปาล์มล้น เตรียมลุยซื้อยางชาวสวน

ข่าวปาล์ม

ข่าวปาล์ม
ข่าวปาล์ม – รัฐฯ ยกเครื่องภาคเกษตร แก้สต๊อกปาล์มล้น – ลุยซื้อยางชาวสวน

ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ , 9 ธ.ค. 2560 – สมคิดเร่งยกเครื่องภาคเกษตรทั้งระบบ เผยระยะสั้นให้พาณิชย์ส่งออกน้ำมันปาล์มแสนตัน และพลังงานนำไปทำไบโอดีเซลแสนตัน “กฤษฎา” ลุยดูดซับยาง 8 หมื่นตัน ไปใช้ในส่วนราชการ พร้อมลุยซื้อจากชาวสวนโดยตรงเพื่อส่งออก หากราคาไม่กระเตื้องขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งด้านการผลิตการตลาดของสินค้าเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ ตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่รับสั่งให้ดูแลประชาชนโดยเฉพาะคนจนผู้มีรายได้น้อย 30 ล้านคน ซึ่งมีสัดส่วนต่อจีดีพี (GDP) ของไทยร้อยละ 8-9 จึงต้องผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น

ไบโอดีเซล, ปาล์มดีเซล
ปาล์มน้ำมัน ใช้ผลิต ไบโอดีเซล

ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า ปีหน้างานสำคัญลำดับแรกคือการช่วยเหลือเศรษฐกิจระดับล่างให้เข้มแข็ง โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด และต้องไม่อยู่แค่การผลิตสินค้า การตลาด แต่ต้องทำให้คนในพื้นที่และชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการเชื่อมโยงให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย

สำหรับระยะเร่งด่วน ต้องเร่งแก้ไขปัญหายางพารา เกิดซัพพลายยางล้นตลาด ทั้งนี้ เบื้องต้นมี 2 แนวทางที่จะต้องทำ คือ ระยะสั้น ประคองราคายางให้เหมาะสมและสมเหตุสมผล และการซื้อขายยางด้วยราคาต่ำกว่าต้นทุนไม่ควรจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯจะต้องหารือกับผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องต่อไปส่วนระยะยาว จะต้องส่งเสริมการแปรรูปเพื่อมูลค่าเพิ่มยางพารา ขณะที่ปัญหาปาล์มน้ำมัน พบว่าปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ค้างอยู่ถึง 5 แสนกว่าตัน ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดในประวัติการณ์ ซึ่งเกิดจากขาดการบริหารแบบบูรณาการ อย่างไรก็ดีให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลการผลักดันส่งออกซีพีโอ 1 แสนตัน ส่วนกระทรวงพลังงานดูแลการนำซีพีโอ 1 แสนตัน ไปทำไบโอดีเซล รวมให้ดูดซับออกไป 2 แสนตัน ส่วนพืชเกษตรสำคัญอื่น ๆ หน่วยงานไหนที่เป็นเจ้าภาพดูแล เช่น กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงเกษตรฯ ต้องระบุผู้รับผิดชอบได้ทันที

ส่วนระยะกลาง-ยาว คือ การทำให้เกษตรกรแข็งแรง ด้วยการสร้าง SMEs ภาคเกษตร โดยกระทรวงเกษตรฯร่วมกับ ธ.ก.ส. ร่วมกันกำหนดมาตรการให้เกิดความเข้มแข็ง เช่น หาตลาดอย่างไร พืชสวน ผลไม้ การค้าอีคอมเมิร์ซ เริ่มจากเกษตรกรกลุ่มที่มีความเป็นผู้นำก่อน น้อมนำศาสตร์พระราชา เกษตรแปลงใหญ่ร่วมด้วย หากทำผ่านกลุ่มนี้ได้จะเกิดการเรียนรู้กระจายสู่หมู่บ้าน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนที่จะทำให้ราคาผลผลิตดีขึ้น โดยเฉพาะยางซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน ขณะนี้ราคายางอยู่ที่ราคา 46-47 บาท/กก. ซึ่งในสัปดาห์หน้าหากราคาไม่ดีขึ้น กระทรวงเกษตรฯก็จะมีมาตรการเพิ่ม กล่าวคือ กระทรวงเกษตรฯ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะประสานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ส่งออก เร่งรัดการซื้อยางให้มากขึ้นส่วนมาตรการที่ 2 เนื่องจากที่ผ่านมา ยางที่ใช้ในส่วนราชการมีเพียง 33,000 ตัน จึงได้ประสานกระทรวงคมนาคม เบื้องต้นยังมีโครงการซ่อมถนนทั้งหมดให้มีการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมการปรับปรุงถนน ทั้งถนนสายรองและตามชนบท โดยตั้งเป้าภายใน 3 เดือน ต้องสามารถดูดซับยางพาราที่ค้างสต๊อก 1 แสนตัน นำไปใช้ในส่วนราชการไม่น้อยกว่า 50,000-80,000 ตัน

มาตรการที่ 3 มอบหมายให้ กยท.จัดเตรียมงบประมาณเพื่อซื้อยางชาวสวนยางโดยตรง คาดว่าทั้ง 3 มาตรการจะช่วยผลักดันราคาขยับขึ้น โดย 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ราคายางขยับขึ้นมา 1.30 บาท/กก.และยืนยันว่า ยางที่มีอยู่ในสต๊อกทั้งหมดจะไม่นำออกมาขาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงคมนาคม มหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำไปใช้ทำถนนและลานอเนกประสงค์


ที่มา : (prachachat.net) ประชาชาติธุกิจ ออนไลน์ – ข่าวเศรษฐกิจในประเทศ, วันที่ 9 ธันวาคม 2560 – 20:00 น.
ภาพข่าว : youtube.com

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน