ทางปาล์มน้ำมัน และกระถิน นวัตกรรมใหม่ ใช้ปลูกกล้วยไม้ แทนกาบมะพร้าวได้ดี

ทางปาล์มน้ำมัน

ทางปาล์มน้ำมัน
ภาพจาก : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก www.komchadluek.net“


25 ก.พ. 2559, หนังสือพิมพ์คมชัดลึก – ข่าวไลฟ์สไตล์
คอลัมน์ทำมาหากิน “ใช้กระถิน-ทางปาล์มน้ำมัน นวัตกรรมใหม่ปลูกกล้วยไม้ ” โดย..นวลศรี โชตินันทน์

  ที่ผ่านมาเกษตรกรจะนิยมกาบมะพร้าวใช้ในการปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย แต่ปัจจุบันกาบมะพร้าวกำลังขาดแคลน เนื่องจากพื้นที่การปลูกมะพร้าวลดลง เนื่องจากประสบปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม ทำให้กาบมะพร้าวมีราคาสูงขึ้นจากเดิมกระบะปลูกกล้วยไม้ราคากระบะละ 5-7 บาท มาเป็น 15-20 บาท กาบมะพร้าวเหมารถ 6 ล้อ จากคันละ 2,500 บาท เพิ่มกว่า 5,000 บาท ล่าสุด พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร พร้อมคณะ ศึกษาวิจัย กระถิน และ ทางปาล์มน้ำมัน เป็นวัสดุปลูกกล้วยไม้ทดแทนกาบมะพร้าว ปรากฏว่าใช้ได้เป็นอย่างดี

  พุทธธินันทร์ บอกว่า ตามปกติเกษตรกรผู้เพาะปลูกกล้วยไม้ตัดดอกตระกูลหวายนั้น หลังจากปลูกไปแล้วทุกๆ 3-5 ปี จะต้องรื้อต้นกล้วยไม้เก่าและกาบมะพร้าวที่เป็นวัสดุปลูกออกเพื่อปลูกต้นใหม่ เนื่องจากกล้วยไม้มีจำนวนลำลูกกล้วยไม้มากและหนาแน่นขึ้น และมีการสะสมโรคในลำต้นเก่าๆ ด้วย แต่ปัจจุบันกาบมะพร้าวน้อยลง หากาบมะพร้าวไม่ได้ จะต้องทิ้งแปลงให้ว่างเปล่าส่งผลให้ขาดรายได้ไป

ทางปาล์มน้ำมัน
ภาพจาก : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก www.komchadluek.net“

  ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงศึกษาและพัฒนาหาวัสดุปลูกมาทดแทนกาบมะพร้าวเน้นไปที่วัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรที่ทิ้งไป โดยคำนึงถึงคุณสมบัติที่จะช่วยให้ระบบรากและต้นกล้วยไม้เจริญงอกงามดีและต้องหาได้ง่าย ราคาถูก ทนทาน และไม่ย่อยสลายเร็วเกินไป เบื้องต้นเลือกมา 5 ชนิด ได้แก่ กระถิน ทางปาล์มน้ำมัน ทางสละ เศษเหลือทิ้งจากสับปะรด ทะลายปาล์มน้ำมันจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โดยมีวัสดุกาบมะพร้าวเป็นตัวเปรียบเทียบ

  เราคัดเลือกวัสดุเหลือใช้ทิ้ง หาได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ระบายน้ำได้ดี ไม่อุ้มน้ำจนแฉะ สามารถนำมาอัดเป็นก้อนวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าว เราใช้เวลาศึกษาทดลองประมาณ 3 ปี เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 สิ้นสุดการทดลองในเดือนกันยายน 2558 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสวนกล้วยไม้ของคุณสุวรรณ หิรัญวรวุฒิกุล สวนกล้วยไม้สุวรรณภูมิออร์คิด ที่ ต.หนองกระทุ่ม อ.กำแพงแน จ.นครปฐม ผลการทดลองพบว่า วัสดุที่กล้วยไม้ตอบสนองได้ดีคือกระถินและทางปาล์มน้ำมันที่จะนำมาปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลดีที่สุด” พุทธธินันทร์ กล่าว

ทางปาล์มน้ำมัน
ภาพจาก : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก www.komchadluek.net“

  สำหรับการดำเนินการเริ่มจากนำตัวอย่างวัสดุทั้งหมดไปศึกษาวิธีลดขนาดและกระบวนการอัดก้อนวัสดุสำหรับปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย สำหรับต้นกระถินหรือกิ่งกระถินใช้เครื่องหั่นย่อยกิ่งไม้ และใช้เครื่องหั่นเส้นใย คือ ทะลายปาล์มน้ำมัน ทางปาล์ม ทางสละและเศษเหลือทิ้งจากสับปะรด ซึ่งมีลักษณะเป็นพืชเส้นใย เครื่องหั่นนี้พัฒนาขึ้นมาโดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จากนั้นนำไปอัดเป็นก้อนวัสดุสำหรับปลูกกล้วยไม้ โดยการสร้างบล็อกโมเดลสำหรับขึ้นรูป มีขนาด 24x36x8 ซม. ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับก้อนวัสดุปลูกกาบมะพร้าวที่ใช้กันทั่วไปในสวนกล้วยไม้ของเกษตรกร บล็อกที่ว่าใช้ปูนซีเมนต์เป็นตัวประสานให้วัสดุเหลือทิ้งที่เตรียมไว้สามารถขึ้นเป็นวัสดุปลูกได้

  จากนั้นนำตัวอย่างก้อนวัสดุปลูกทั้งหมดไปศึกษาวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี เพื่อทดสอบค่าต่างๆ รวมถึงศึกษาอายุและการใช้งานของก้อนวัสดุปลูกแต่ละชนิดและพบว่า กระถิน และทางปาล์มน้ำมัน ทดแทนกาบมะพร้าวดีที่สุด

  นอกจากนี้ยังวิจัยในส่วนของเครื่องมือผลิตกระบะวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าวในเชิงพาณิชย์ด้วย โดยผลิตเครื่องผลิตกระบะวัสดุปลูกกล้วยไม้ต้นแบบ ซึ่งมีความสามารถในการผลิต 25-30 กระบะต่อชั่วโมง กระบะวัสดุปลูกมีขนาด 20x36x8 ซม. สามารถปลูกกล้วยไม้ได้ 4 ต้น สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี โทรศัพท์ 0-3945-1222


ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก – ข่าวไลฟ์สไตล์ 25 ก.พ. 2559, (www.komchadluek.net)

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน