สศอ.ดันแผนพัฒนาอุตฯ ปาล์มน้ำมันสู่โอเลโอเคมีสร้างมูลค่าเพิ่ม

ปาล์มน้ำมัน
  12 ต.ค. 2560, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ – ข่าว SMEs
– สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ได้เตรียมศึกษาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพตามโรดแมปประเทศไทย 4.0 และการยกระดับทางไบโออีโคโนมี พร้อมผลักดัน 2 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีที่มีศักยภาพสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ คาดหากมีนโยบายส่งเสริมโอเลโอเคมี มูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2570 จะเพิ่มขึ้นเป็น 608,975 ล้านบาท

การผลิต ไบโอดีเซล จากปาล์มน้ำมัน  นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เร่งศึกษาแผนที่จะนำไปสู่แนวการปฏิบัติในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเพื่อเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมี ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ (Biofuels and biochemical) 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ โดยจะส่งผลต่อการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงของปาล์มน้ำมันในระยะยาว และแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ของปาล์มน้ำมันได้ดียิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นจะต้องมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเลโอเลเคมีที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) จากปาล์มน้ำมัน

  ทั้งนี้เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาผลผลิตเกษตร สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรและเพิ่มโอกาสในการลงทุนกับภาคอุตสาหกรรม การมีนโยบายส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องและเกิดการผลิตโอเลโอเคมีเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมถึงการส่งออกจะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนยกระดับเทคโนโลยี ตลอดจนยกระดับนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป

 

ปาล์มน้ำมัน, โอเลโอเคมีคอล, น้ำมันปาล์ม

  สำหรับอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมัน คือ การผลิตสารเคมีที่สกัดหรือสังเคราะห์ได้จากกรดไขมันต่าง ๆ ที่มาจากปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาปาล์มน้ำมันถูกนำไปแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อการบริโภค ได้แก่ น้ำมันปาล์ม และพลังงาน ได้แก่ ไบโอดีเซล เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยังไม่มีแนวนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมที่ชัดเจน ประกอบกับการที่ต้องใช้เงินลงทุน ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการผลิตที่ยังไม่เป็นที่รู้จักดีในวงการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ยังขาดการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงนโยบาย กฎระเบียบ สภาวะการแข่งขัน การผลิต เศรษฐศาสตร์ การตลาด เทคโนโลยี และการวิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งจากภายในและต่างประเทศ ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นต้น เช่น น้ำมันพืชหรือไบโอดีเซลก็ตาม

  อย่างไรก็ตามจากการศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจปี 2559 พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจโอเลโอเคมีอยู่ที่ 218,150 ล้านบาท ในขณะที่การคาดการณ์ปี 2570 ของห่วงโซ่คุณค่าโอเลโอเคมีของไทย พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเป็น 472,903 ล้านบาท โดยหากมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมโอเลโอเคมี คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2570 จะเพิ่มขึ้นเป็น 608,975 ล้านบาท

ปาล์มน้ำมัน


ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ – ข่าว SMEs, 12 ต.ค. 2560

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน