ปาล์มน้ำมัน

ทะลาย, ปาล์มน้ำมัน
ทะลาย ปาล์มน้ำมัน

13 ก.ย. 2560, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระจกไร้เงา โดย ณัฐวัฒน์ หาญกล้า ครั้งก่อนเคยพูดถึงพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืชพลังงานไปหนึ่งตัวก็คือ “หญ้าเนเปียร์” ที่รัฐบาลเคยสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกเพื่อขายมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งต้องยอมรับว่ามันไม่ค่อยจะไปได้ดีเท่าไหร่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่ใช้หญ้าเนเปียร์ไม่ได้มีเยอะในประเทศไทย แต่ความต้องการปลูกของชาวบ้านมีเยอะ เพราะเชื่อว่าจะได้ราคาที่ดีกว่าพืชเดิมๆ ที่เคยปลูก

ซึ่งเบื้องต้นก็ต้องรอนโยบายของรัฐบาลว่าจะมารองรับในด้านนี้ได้ดีขนาดไหน โดยส่วนตัวเชื่อว่าหญ้าเนเปียร์เป็นพืชที่จะช่วยเกษตรกรได้บางส่วน เนื่องจากใช้ต้นทุนน้อย และหากมีการส่งเสริมรับซื้อก็สามารถตัดขายได้ตลอดทั้งปี

แต่ครั้งนี้จะพามารู้จักกับพืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่เรียกได้ว่าอยู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน และสามารถนำไปแปรรูปได้มากมายหลายอย่าง ทั้งอุปโภคและบริโภค นั่นคือ “ปาล์มน้ำมัน” ที่ถือว่าเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกรหลายครัวเรือน

โดยปาล์มสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งทำน้ำมันปาล์ม ไบโอดีเซล หรือการนำมาผลิตไฟฟ้าในรูปแบบชีวมวล ซึ่งอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่ภาคใต้มีความโดดเด่นอย่างมาก ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ พบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 999,000 ตัน

และสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา ภาคใต้ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ ซึ่งในจังหวัดนี้มีการปลูกปาล์มยืนต้นถึง 1,087,500 ไร่ ปาล์มให้ผล 965,112 ไร่ มีผลผลิตทั้งปีอยู่ที่ 2,675,684 ตัน

ไบโอดีเซล, ปาล์มดีเซล
ปาล์มน้ำมัน ใช้ผลิต ไบโอดีเซล

ทั้งนี้ เมื่อรวมพื้นที่ในการปลูกปาล์มทั้งประเทศยังพบอีกว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 4.7 ล้านไร่ เฉลี่ยพื้นที่เพิ่มขึ้นปีละ 5% ขณะที่ผลผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 7% แต่อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก ไม่ได้เกิดจากกระบวนการเพิ่มผลผลิตต่อไร่

แต่อย่างไรก็ตาม ปาล์มยังมีปัญหาในเรื่องข้อจำกัดอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะการแข่งขันเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เปรียบไทยในด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิต นอกจากนี้ การผลิตปาล์มน้ำมันยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการ ต้นทุนการผลิต รวมทั้งการสูญเสียในแต่ละกระบวนการ

ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งมีปาล์มน้ำมันอยู่ในนั้นด้วย ส่งผลไปยังปัญหาล้นตลาด ราคาถูก และกระทบไปยังเกษตรกร จนฝ่ายรัฐบาลต้องวิ่งเต้นหามาตรการมาระบายสต็อกปาล์มในตลาดเพื่อช่วยเกษตรกร อย่างเช่นการเพิ่มสัดส่วนผสมในไบโอดีเซล (บี 100) ในน้ำมันดีเซลจากเดิม 5% หรือบี 5 เป็น 7% หรือบี 7

ขณะเดียวกันหากปัญหาเรื่องล้นตลาดจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่การผลิตปาล์มน้ำมันของไทยก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะเป็นกระบวนการผลิตที่ไม่สามารถดึงศักยภาพของปาล์มมาใช้ให้เต็มที่ รวมถึงความเข้าใจของเกษตรกรยังชินกับการทำงานในรูปแบบเดิมๆ อยู่

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงมีการเตรียมกลยุทธ์ส่งเสริมศักยภาพในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ได้แก่ กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการผลิต กลยุทธ์เสริมแกร่งด้วยการรวมกลุ่ม กลยุทธ์การสร้างความหลากหลายและมูลค่าเพิ่ม กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ และกลยุทธ์การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญใช้พัฒนาและผลักดันกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ไปในแนวทางเดียวกัน

ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความต้องการและศักยภาพของจังหวัด 3 ด้าน คือ
1. ด้านภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
2. ด้านพื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ
3. ด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อต่อการผลิตและอุตสาหกรรม

โดยยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้จะช่วยตอบสนองและก่อให้เกิดกลไกที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นการผลักดันให้แต่ละอุตสาหกรรมมีการปรับบทบาทจากการ “เพิ่มมูลค่า” เป็นการ “สร้างมูลค่า” มากยิ่งขึ้น พร้อมกระจายความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม

เห็นได้ว่าถึงปาล์มน้ำมันจะอยู่กับประเทศไทยมาอย่างช้านาน เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรหลายครอบครัว แต่หากไม่มีการปรับตัวและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ก็จะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ และก็จะตายไปในไม่ช้า.

“ณัฐวัฒน์ หาญกล้า”
13 ก.ย. 2560, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระจกไร้เงา

ปาล์มน้ำมัน


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระจกไร้เงา – วันที่ 13 ก.ย. 2560

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน