ด้วงงวงมะพร้าว ศัตรูปาล์มน้ำมันตัวร้าย..มีวิธีป้องกันและกำจัดอย่างไร??

แมลงศัตรูพืชถือเป็นเรื่องปกติของชาวสวน แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรนิ่งนอนใจ เมื่อเริ่มพบแมลงต่างๆ ควรเริ่มป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด
ด้วงงวงมะพร้าว หรือ ด้วงสาคู หรือ ด้วงลาน หรือ แมงหวัง (Red palm weevil, Red-stripes palm weevil, Asian palm weevil, Sago palm weevil) เป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่สามารถทำลายต้นปาล์มได้เช่นกัน โดยด้วงงวงมะพร้าวจะกัดกินพืชได้หลายชนิด โดยเฉพาะพืชจำพวกปาล์ม เช่น ต้นมะพร้าว ต้นปาล์มน้ำมัน ต้นสาคู ต้นลาน มักพบบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งตัวหนอนจะเจาะกินยอดอ่อน ตัวเต็มวัยจะกินเนื้อเยื่อพืช จนลึกเป็นโพรงทำให้พืชตายได้ ซึ่งด้วงชนิดนี้จะบินออกหากินในเวลากลางวัน และบินได้ไกลถึง 900 เมตร
ด้วงงวงมะพร้าว จะเข้าทำลายยอดต้นพืชหลังจากที่ด้วงแรดมะพร้าว ได้เข้าไปเจาะทำลายส่วนยอดของต้นพืชไว้แล้ว
รูปร่างลักษณะและชีววิทยา
ด้วงงวงมะพร้าว จัดว่าเป็นด้วงงวงขนาดกลาง ตัวเต็มวัย ปีกมีสีน้ำตาลดำ อกมีสีน้ำตาลและมีจุดสีดำ มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 25-28 มิลลิเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ตัวผู้มีขนที่ด้านบนของงวงใกล้ส่วนปลาย ตัวหนอนมีสีเหลืองปนน้ำตาล ดักแด้เป็นปลอกทำด้วยเศษชิ้นส่วนจากพืชที่กินเป็นอาหาร
โดย ด้วงงวงมะพร้าว มีลักษณะทางชีววิทยาที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงวัยหลักๆดังนี้

1. ไข่
ไข่ดวงงวงมะพร้าว จะมีลักษณะสีขาว รูปร่างยาวรี วางไข่เดี่ยวๆ โดยด้วงงวงเพศเมียจะใช้งวงเจาะเข้าไปในรอยแผลที่ด้วงแรดเข้าทำลายให้เป็นรูก่อนแล้วจึงใช้อวัยวะสำหรับวางไข่สอดเข้าไปวางไข่ในรูดังกล่าว ไข่มีความกว้างประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตรไข่บางฟองจะมีช่องอากาศ สามารถ มองเห็นเป็นลักษณะใสๆ อยู่ที่ปลายอีกข้างหนึ่ง
2. หนอน
ระยะที่ด้วงงวงมะพร้าวเป็นหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีลักษณะสีขาวหัวสีน้ำตาลแดง ไม่มีขา ลำตัวย่นเป็นปล้องๆ ความกว้างประมาณ 0.9 เซนติเมตร หนอนจะเจริญเติบโต และลอกคราบ >10-11 ครั้ง หนอนที่โตเต็มที่มีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร
3. ดักแด้
ระยะดักแด้ เป็นช่วงที่หนอนเตรียมตัวจะเข้าดักแด้จะสร้างรังโดยใช้เส้นใยจากอาหารที่มันกิน เช่น ถ้าเป็นหนอนที่เลี้ยงด้วยเปลือกมะพร้าวอ่อน หนอนจะใช้ใยของเปลือกมะพร้าวสร้างรัง ถ้าหนอนเกิดอยู่ภายในต้นมะพร้าวก็จะใช้เส้นใยจากต้นมะพร้าวสร้างรังดักแด้ ลักษณะรังดักแด้เป็นรูปยาวรี เส้นใยที่ใช้สร้างรังหนาแน่นมากจนมองไม่เห็นตัวหนอน หนอนในรังที่เตรียมเข้าดักแด้จะไม่กินอาหารประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจึงเปลี่ยนรูปเป็นดักแด้สีขาวนวล ลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย
4. ตัวเต็มวัย
เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยใหม่ๆ จะยังไม่เจาะออกมาจากรังที่หุ้มตัวอยู่ และจะอยู่ในรังดักแด้ประมาณ 2-5 วัน จึงกัดรังออกมาภายนอก ลักษณะของด้วงงวงเล็ก สีของลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำ ส่วนหัวมีงวงยาวเรียวยื่นออกมาปลายงวง ซึ่งเป็นส่วนปากที่มีขนาดเล็กมาก บนส่วนหลังของอกสีน้ำตาลแดงอาจมีจุดหรือลายลักษณะต่างๆ ด้วงงวงเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะของปลายงวงแตกต่างกันคือ งวงของเพศผู้มีขนสั้นๆ ขึ้นหนาแน่นตามแนวยาวของงวง ขนาดของงวงสั้นกว่าของตัวเมีย งวงของเพศเมียจะมีขนาดยาวกว่า และไม่มีขนบริเวณปลายงวง ด้วงงวงเพศเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้สูงสุด 527 ฟอง ในเวลา 112 วัน ใน 1 วันสามารถวางไข่ได้สูงสุด 30 ฟอง การฟักของไข่ประมาณ 80 %

วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคพืช
(ชนิดน้ำเข้มข้น สายพันธุ์คุณภาพคัดพิเศษ)
ลักษณะการทำลาย
ตัวหนอนจะเจาะกินยอดอ่อน ตัวเต็มวัยจะกินเนื้อเยื่อพืช จนลึกเป็นโพรงจนทำให้พืชตายได้
วิธีป้องกัน
- ป้องกันการระบาดของด้วงแรดมะพร้าว โดยใช้สารฆ่าแมลงคาโบซัลแฟน (carbofuran) (Furadan 3% G) อัตรา 200 กรัมต่อต้น ใส่รอบยอดอ่อน และซอกโคนทางใบถัดออกมา หรือฉีดพ่นสารคลอไพริฟอส (chlorpyrifos) (Lorsban 40% EC) อัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบยอดอ่อน และโคนทางใบถัดมา ต้นละประมาณ 1 ลิตร เดือนละ 1 ครั้ง
- ใช้นำมันเครื่องยนต์ที่ใช้แล้วหรือชัน ผสมกับน้ำมันยาง ทาบริเวณโคนต้นหรือลำต้นเพื่อป้องกันไม่ให้ด้วงมาวางไข่
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตรในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีอยู่ 8 เขต ทั่วประเทศ หรือติดต่อ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักงานวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 02-579-7580 และ 02-579-5583 ต่อ 133 หรือ 134
อย่างไรก็ตาม พบว่าหนอนด้วงงวงมะพร้าว ยังเป็นอาหารที่นิยมรับประทานทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการวางจำหนายตามตลาดสดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ข้อมูลจากเวิร์คพอยท์นิวส์ ระบุว่า เกษตรกรรายหนึ่งใน จ.พะเยา ได้หันมาทำธุรกิจเพาะด้วงงวงมะพร้าวขาย สร้างรายได้งาม กิโลกรัมละ 300-350 บาท
ด้วงงวงมะพร้าวมีโปรตีนสูง สามารถนำไปกระกอบอาหารได้หลายอย่าง ทั้ง ต้ม ทอด แกง ยำ ผัด ฯลฯ เช่น ด้วงงวงมะพร้าวทอดกระเทียม ด้วงงวงมะพร้าวแช่น้ำปลา ด้วงงวงมะพร้าวผัดพริก ด้วงงวงมะพร้าวคั่วเกลือ ด้วงงวงมะพร้าวย่าง ต้มแซ่บด้วงงวงมะพร้าว ลาบด้วงงวงมะพร้าว และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการนำมารับประทาน แนะนำให้ผ่านกรรมวิธีปรุงสุก เพื่อความปลอดภัย
อ่านบทความ: ศัตรูปาล์มน้ำมัน ต่างๆ มีอะไรบ้าง และมีวิธีป้องกัน กำจัด อย่างไร??
อ้างอิง :
– wikipedia.org วิกิพีเดีย
– workpointnews.com เวิรค์พอยท์นิว
แชร์บทความนี้