B100 (ไบโอดีเซล B100) คืออะไร?

ไบโอดีเซล : จากปาล์มน้ำมันสู่น้ำมันเชื้อเพลิง

เป็นเชื้อเพลิงดีเซลที่เกิดจากผสมระหว่างน้ำมันดีเซลจากปิโตเลียมเข้ากับวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้พลังงาน โดยวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านี้ยังเป็นทรัพยากรหมุนเวียนด้วย เช่น ปาล์มน้ำมัน น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ หรือสาหร่าย จัดเป็นสารพวกเอสเทอร์ (ester) โดยนำน้ำมันดังกล่าวไปผสมกับแอลกอฮอล์ (เช่น เมทานอล หรือ เอทานอล) และมีด่างเป็นตัวทำปฏิกิริยา จะได้กรดไขมันออกมา เรียกว่า fatty acid methyl ester และสารอีกส่วนที่ได้คือกลีเซลรีนซึ่งต้องกรองแยกออกไป
จึงได้กลีเซอรอลและกรดไขมันเป็นผลพลอยได้ซึ่งปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นสามารถแสดงได้ดังนี้

ปฏิกิริยา TRANSESTERIFICATION ในกระบวนการผลิตไบโอดีเซล

“น้ำมันไบโอดีเซล” เป็นเชื้อเพลิงดีเซลทางเลือกที่มีคุณสมบัติการเผาไหม้เหมือนกับดีเซลจากปิโตรเลียมมาก และสามารถใช้ทดแทนกันได้ นอกจากนี้ยังสามารถย่อยสลายได้เอง ตามกระบวนการชีวภาพในธรรมชาติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

สามารถแบ่งเกรดของไบโอดีเซล ดังนี้

  • B 100  คือ ไบโอดีเซล 100%
  • B 20    คือ ไบโอดีเซล 20%  ผสมกับ ดีเซลจากปิโตรเลียม 80%
  • B 5      คือ ไบโอดีเซล 5% ผสมกับ ดีเซลจากปิโตรเลียม 95%
  • B 2      คือ ไบโอดีเซล 2% ผสมกับ ดีเซลจากปิโตรเลียม 98%

(อ่านบทความ : ไบโอดีเซล – จากปาล์มน้ำมัน สู่ น้ำมันเชื้อเพลิง)

นอกจากการนำไบโอดีเซลมาผสมกับน้ำมันดีเซลปกติแล้ว อีกทางเลือกหนึ่ง คือการใช้ไบโอดีเซล B 100 (ไบโอดีเซลล้วนๆไม่ผสมน้ำมันดีเซลปกติ) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายคลึง กับน้ำมันดีเซลปกติ อีกทั้งมีการทดสอบการใช้งานในต่างประเทศว่าสามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลทั่วไปได้จริง ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงมีการจำหน่ายไบโอดีเซล B 100 ค่อนข้างแพร่หลาย อย่างเช่น ประเทศเยอรมัน บริษัทรถยนต์หลายแห่งได้ออกแบบเครื่องยนต์ให้สามารถใช้กับไบโอดีเซล B 100 ได้โดยตรง ขณะที่สหรัฐอเมริกาเอง ก็มีผู้ที่นิยมนำไบโอดีเซลไปใช้งานกับเครื่องยนต์ที่มีรอบต่ำ หรือนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลปกติในอัตราส่วน ร้อยละ 10 ,20 หรือ 30 ตามแต่ความเหมาะสมในการใช้งาน

ปัจจุบันราคาจำหน่ายไบโอดีเซล B 5 มีความแตกต่างจากน้ำมันดีเซลปกติไม่มากนักเพราะมีราคาต่ำกว่าเพียง 50 สตางค์/ลิตร ในขณะที่ไบโอดีเซล B 100 นั้นจะมีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติราว 2 บาท/ลิตร (ถ้าไม่เสียภาษีและกองทุนน้ำมันฯ) ดังนั้นผู้ที่สามารถนำไบโอดีเซล B100 ไปใช้งานโดยตรง หรือนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลปกติในอัตราส่วนที่สูงๆ เพื่อใช้งานได้จะสามารถประหยัดได้มากพอควรที่เดียว

ทั้งนี้ความแตกต่างของราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลปกติและไบโอดีเซล B 5 หรือ B 100 จะมีมากหรือน้อย โดยหลักการจะขึ้นอยู่กับราคาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซลซึ่ง คือ ราคาน้ำมันปาล์มดิบนั่นเอง รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้อัตราการเก็บภาษีและกองทุนน้ำมันฯ ที่ปัจจุบันยังคงเก็บอยู่ในอัตราที่สูงก็ส่งผลต่อความแตกต่างของราคาจำหน่ายด้วยเช่นกัน การสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล ทั้ง B 5 และ B 100 ให้แพร่หลายมากขึ้นนั้น นอกจากจะใช้ปัจจัยด้านราคามาดึงดูดความสนใจแล้วความน่าเชื่อถือในคุณสมบัติของน้ำมันไบโอดีเซลและการรับรองคุณภาพจากบริษัทรถยนต์ ก็เป็นประเด็นสาคัญที่มีผลต่อความสนใจหันมาใช้งานของผู้บริโภคด้วย

ปัจจุบันบริษัทรถยนต์ยอมรับให้สามารถนำไบโอดีเซลผสม เพื่อใช้กับรถยนต์ในอัตราส่วนร้อยละ 5 เท่านั้นสำหรับการผสมไบโอดีเซลในอัตราสูงๆ นั้นถึงแม้จะมีใช้กันอยู่มากในต่างประเทศแต่บริษัทรถยนต์ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ดังนั้นผู้ใช้จะต้องทดสอบการใช้งานด้วยด้วยตนเองว่าอัตราส่วนผสมที่เท่าใดจึงจะเหมาะสมเพราะเครื่องยนต์ดีเซลของแต่ละประเภทการใช้งานจะมีความแตกต่างกัน หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบริษัทผู้ค้าน้ำมันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องจักรกลไบโอดีเซล B 100 จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ใช้รถยนต์เครื่องดีเซลในการประหยัดค่าใช้จ่ายในภาวะน้ำมันแพงได้เป็นอย่างดี

สถานการณ์ B100 ในประเทศไทย

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การผลิตไบโอดีเซล (B100) ว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิต B100 รวมทั้งสิ้น 13 โรงรวมกำลังผลิต 6.6 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่ความต้องการใช้ B100 เพื่อนำไปผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลมีเพียง3 ล้านลิตร/วันเท่านั้น ซึ่งหากทุกโรงงานเดินเครื่องผลิตเต็มที่เท่ากับว่าจะมีปริมาณ B100 ที่เป็น “ส่วนเกิน” ถึง 3 ล้านลิตร/วัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้

  • โรงงานผลิต B100 ส่วนใหญ่เดินเครื่องผลิตไม่ถึงร้อยละ 50หรือเดินเครื่องเฉพาะที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น
  • ปริมาณส่วนเกินในระบบที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อจำกัดด้านถังเก็บสต๊อกที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีการจำหน่าย B100 (หน้าโรงงาน) แบบดัมพ์ราคาไม่ถึง20 บาท/ลิตร ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบราคาประกาศจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ราคา 23.64 บาท/ลิตร

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการที่มีเพียงธุรกิจผลิตไบโอดีเซลอย่างเดียวค่อนข้างลำบาก และอาจจะต้องประสบปัญหาภาวะขาดทุนได้หากยังคงจำหน่าย B100 ในราคาถูก

ส่วนผู้ประกอบการที่มีทั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล และโรงงานน้ำมันปาล์มเพื่อป้อนให้กับการบริโภคจึงยังสามารถบริหารจัดการกระจายความเสี่ยงได้ จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ในปี 2561 นี้ คาดว่าจะมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลใหม่เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย3 โรง อย่างเช่น โรงงานไบโอดีเซลของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีบริการน้ำมันพีที กำลังผลิตประมาณ 300,000 ลิตร/วัน

“นโยบายของภาครัฐสำคัญต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ประเด็นสำคัญคือ จะเพิ่มความต้องการใช้ B100 ได้อย่างไร เพราะซัพพลายมีมากกว่าดีมานด์ถึง 2 เท่าในขณะนี้ จากเดิมที่ก่อนหน้านี้โรงงานผลิต B100 ก็จะเจอว่าบริษัทน้ำมันกดราคารับซื้อ B100 แต่ตอนนี้หนักกว่านั้นคือ ผู้ผลิตกดราคาเองเลย เพราะการแข่งขันสูง ถ้าขายแพงก็ไม่มีใครซื้อ และถึงแม้ว่าอยากสต๊อก B100 ไว้ก็ไม่ได้อีกเพราะไม่มีถังเก็บ”

ด้านนางกนกพร จารุกุลวนิชกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพียวพลังงานไทย จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทแม่คือ บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ RPC ได้ลงทุนพัฒนาโรงงานไบโอดีเซล กำลังผลิต 300,000 ลิตร/วัน โดยใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ ภายใต้การบริหารของบริษัท เพียวไบโอดีเซล จำกัด นั้น แต่เนื่องจากความต้องการใช้ B100 ยังมีไม่มากพอที่จะเดินเครื่องผลิตแล้วคุ้มค่า จึงตัดสินใจหยุดผลิตมาตั้งแต่ปี 2555 และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีแผนที่จะกลับมาผลิต เนื่องจากมีผู้ผลิตหลายราย และการแข่งขันในตลาดก็ค่อนข้างสูง แต่หากในอนาคตความต้องการใช้มากขึ้นก็อาจจะพิจารณาอีกครั้งได้

ผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่ 5 อันดับแรกของไทย
ขอบคุณภาพจาก : prachachat.net

ตามข้อมูลล่าสุดของกรมธุรกิจพลังงาน ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิต B100 รวมทั้งสิ้น 13 โรง โดยใช้น้ำมันปาล์ม (CPO) น้ำมันพืชใช้แล้วและอื่น ๆ เป็นวัตถุดิบ คือ บริษัท ไบโอเอ็นเนอยี่พลัส 2 จำกัด, บริษัท ไบโอซินเนอร์จี จำกัด, บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด, บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด, บริษัท จีไอ กรีน พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท เอไอ เอ็นเนอร์จี จำกัด (มหาชน), บริษัท วีระสุวรรณ จำกัด, บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด, บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด และบริษัท แอ็บโซลูท พาวเวอร์ พี จำกัด

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายการส่งเสริมไบโอดีเซลไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2015 (Alternative Energy Development Plan) ว่า ภายในปี 2579 จะมีความต้องการใช้ B100 เพิ่มเป็น 14 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่มีการใช้เพียง 3 ล้านลิตร/วันเท่านั้น สำหรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในเนื้อน้ำมันดีเซลนั้น กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ที่ประมาณร้อยละ 3 ร้อยละ 5 และร้อยละ 7 เนื่องจากราคาวัตถุดิบคือน้ำมันปาล์มค่อนข้างผันผวนตามฤดูกาล และในบางช่วงภาครัฐได้ใช้ไบโอดีเซลเป็นเครื่องมือดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มในบางช่วงเพื่อพยุงราคาด้วย

 

 


อ้างอิง :
sgl1.com
kmcenter.rid.go.th
(prachachat.net) ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์

 

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน