การเก็บข้อมูลทางกายภาพของต้นปาล์มน้ำมัน มีวิธีอย่างไรบ้าง?

การจดบันทึกปาล์มน้ำมัน

การเก็บข้อมูลลักษณะทางกายภาพของต้นปาล์มน้ำมัน ควรเก็บข้อมูลต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในงานทดลองวิจัยปาล์มน้ำมัน  และเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลได้โดยมีความแม่นยำสูงสุด ข้อมูลที่ได้จึงมีประโยชน์ในการใช้เปรียบเทียบสายพันธุ์ หรืองานทดลองเพื่อหาอัตราปุ๋ยต่างๆ

การเก็บข้อมูลที่ดีควรครอบคลุมข้อมูลของปาล์มน้ำมัน ดังต่อไปนี้

  1. วัดความสูงทรงพุ่ม (canopy height) วัดความสูงของต้นปาล์มโดยใช้ไม้เมตร วัดจากผิวดินจนถึงปลายยอดที่สูงที่สุดของใบ
    การวัดความสูงทรงพุ่ม (canopy height)

    (ภาพที่ 1 : การวัดความสูงทรงพุ่ม (canopy height))

     

  2. วัดเส้นผ่านศูนย์กลางโคนต้น (trunk diameter) ใช้ตลับเมตร วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของโคนต้น ตามแนวนอนขนานกับพื้นดิน จากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งของโคนต้น
  3. วัดความยาวทางใบ (leaf length) ใช้ตลับเมตรวัดความยาวทางใบ โดยเลือกใบที่สมบูรณ์เป็นตัวแทนของต้น คือ ทางใบต้องไม่หักพับเสียหาย โดยเริ่มวัดจากส่วนโคนของทางขึ้นไปจนถึงปลายใบ
  4. นับจำนวนใบประกอบ (number of leaflet) นับจำนวนใบย่อยบนทางใบต้นละ 1 ทางใบ
  5. วัดค่าความเขียวใบ (SPAD Index)ใช้เครื่องวัดความเขียวใบ (Chlorophyll meter รุ่น SPAD 505, บริษัท Minolta Camera, ประเทศญี่ปุ่น) วัดความเขียวของใบย่อยที่อยู่ตรงกึ่งกลางทางใบของทางใบตัวแทนที่สมบูรณ์ จำนวน 5 ตำแหน่งกระจายทั่วทั้งแผ่นใบ สำหรับต้นปาล์มที่มีทางใบยังไม่ถึง 9 ใบ และวัดทางใบลำดับที่ 9 สำหรับปาล์มเล็กอายุ 2-5 ปี และทางใบที่ 17 สำหรับปาล์มอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป
    การวัดค่าความเขียวใบ (SPAD Index)

    (ภาพที่ 2 : การวัดค่าความเขียวใบ (SPAD Index))

     

  6. นับจำนวนช่อดอก (number of female, male and mixed fluorescence) นับจำนวนช่อดอกเพศเมีย เพศผู้ และดอกไม่สมบูรณ์ที่ปรากฎบนต้น เพื่อนำไปคำนวณอัตราส่วนช่อดอกเพศเมีย (sex ratio)
    ลักษณะช่อดอกปาล์มน้ำมันเพศต่างๆ

    (ภาพที่ 3 : ลักษณะช่อดอกปาล์มน้ำมันเพศต่างๆ)

     

  7. ทดสอบความเข้มข้นของธาตุอาหารพืชของใบ มีขั้นตอนดังนี้
  • เก็บตัวอย่างใบย่อยตรงบริเวณกึ่งกลางของทางใบ โดยใช้ทางใบที่ 9 สำหรับต้นปาล์มอายุน้อยกว่า 6 ปี และทางใบที่ 17 สำหรับต้นปาล์มอายุมากกว่า 6 ปี ขึ้นไป
  • จากนั้นนำมาอบให้แห้งที่ 80°C เป็นเวลา 24 ชม.
  • ส่งวิเคราะห์เพื่อหาความเข้มข้นของธาตุอาหารพืช จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ N, P, K, Ca, Mg, B, Zn, Cu, Fe และ Mn ได้ที่งานบริการห้องปฏิบัติการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
การนับทางใบเพื่อเก็บตัวอย่างใบนำไปวิเคราะห์ธาตุอาหาร

(ภาพที่ 4 : การนับทางใบเพื่อเก็บตัวอย่างใบนำไปวิเคราะห์ธาตุอาหาร)

การเก็บตัวอย่างใบเพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหารพืช

(ภาพที่ 5 : การเก็บตัวอย่างใบเพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหารพืช)


แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน