ปาล์มน้ำมัน ..นั้นมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นอย่างไร?

ปาล์มน้ำมัน, ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปาล์มน้ำมัน, ใบปาล์มน้ำมัน, ใบปาล์ม, ผลปาล์ม, เมล็ดปาล์ม, ช่อดอกปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมัน (Elaeis guineensis Jacq.) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว พืชตระกูลปาล์ม จัดอยู่ในวงศ์ (family) Palmae หรือ Arecaceae ตระกูลย่อย (Sub- family) เดียวกับมะพร้าวคือ Cocoineae สกุล Elaeis ปาล์มน้ำมันเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพืชยืนต้นที่สามารถให้ผลผลิตทะลายสดได้ตลอดปี โดยการเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มจะเริ่มตั้งแต่ที่ปาล์มน้ำมันมีอายุได้ประมาณ 2.5 ปีหลังจากปลูก และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทะลายสดได้นานกว่า 20 ปี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปาล์มน้ำมัน

1. ราก (Roots)

รากปาล์ม, ต้นปาล์ม, ระบบราก, ปาล์มน้ำมัน, รากปาล์มน้ำมัน
ศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมันซีพีไอ ได้ทำการทดสอบโดยการขุดลงไปใต้ดิน เพื่อค้นหาเส้นทางการแพร่กระจายของรากปาล์ม (เชือกสีแดงล้อมรอบ)

รากของปาล์มน้ำมันนั้นเกิดขึ้นตรงฐานโคนของลําต้นเป็นระบบรากฝอย รากอ่อนจะงอกออกจากเมล็ดเป็นอันดับแรก เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ 2 – 4 เดือน รากอ่อนจะหยุดเจริญเติบโตและหายไป ระบบรากจริงจะงอกจากส่วนฐานของลําต้น ต้นปาล์มที่เจริญเติบโตเต็มที่นั้น ประกอบด้วยราก 4 ชุด ทําหน้าที่ค้ำจุนลําต้น ดูดซับน้ำและธาตุอาหาร

  • รากชุดแรกอยู่ในระดับแนวนอนยาว 3 – 4 เมตรจากต้น และแนวดิ่งลึก 1 – 2 เมตร
  • สําหรับชุดที่สอง สาม และ สี่ จะเกิดเรียงตามลําดับ  และสามารถดูดซับน้ำและธาตุอาหารที่ปาล์มนํามาใช้ประโยชน์ที่ระดับความลึก 30 – 50 เซนติเมตร
  • การแผ่กระจายของรากจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น สภาพของดิน ปริมาณของธาตุ อาหาร ความตื้นของระดับน้ำใต้ดิน เป็นต้น
  • นอกจากนี้จะพบ รากพิเศษ หรือ รากอากาศ ตรงบริเวณโคนต้น ทําหน้าที่ถ่ายเทอากาศระหว่างรากกับบรรยากาศ

อ่านบทความ: รากปาล์ม ระบบรากของปาล์มน้ำมัน เป็นอย่างไร? มีกี่แบบ?

 

2. ลําต้น (Stem)

ปาล์มน้ำมัน, ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปาล์มน้ำมัน, ลำต้นปาล์มน้ำมัน
ลำต้นปาล์มน้ำมัน

ลําต้นของปาล์มน้ำมัน มีลักษณะตั้งตรงรูปร่างทรงกระบอก มีเนื้อเยื่อเจริญเฉพาะตรงปลายยอด (apical meristem) มียอดเดี่ยวรูปกรวย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 – 12 เซนติเมตร สูง 2.5 – 4 เซนติเมตร ประกอบด้วยใบอ่อนและเนื้อเยื่อเจริญ ต้นปาล์มน้ำมันในระยะ 2- 3 ปีแรก จะเจริญเติบโตทางด้านกว้าง หลังจากนั้นลําต้นจะยืดขึ้นปล้องฐานโคนใบและข้อ โดยจะปรากฏให้เห็นก็ต่อเมื่อปาล์มน้ำมันอายุมากแล้ว โดยทั่วไปลําต้นมีความสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 35 – 60 เซนติเมตร/ปี  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและพันธุกรรม  ปาล์มน้ำมันมีความสูงได้มากกว่า 30 เมตร และมีอายุยืนนานได้มากกว่า 100 ปี แต่การปลูกปาล์มน้ำมันเป็นการค้า ไม่ควรมีความสูงเกิน 15 – 18 เมตร หรือ อายุประมาณ 25 ปี

 

 

3. ใบ (Leaves)

ปาล์มน้ำมัน, ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปาล์มน้ำมัน, ใบปาล์มน้ำมัน, ใบปาล์ม
ใบปาล์มน้ำมัน

ใบของปาล์มน้ำมัน เป็นใบประกอบรูปขนนก (pinnate) ประกอบด้วย

  • แกน
  • ทางใบ
  • ก้านใบ
  • ใบย่อย ซึ่งเกิดจากการพัฒนาของเนื้อเยื่อที่ปลายยอดของลําต้น บริเวณดังกล่าว จะมีจุดกําเนิดตาใบอยู่มากกว่า 50 ตาใบ

ในปาล์มที่มีอายุ 5 – 6 ปี จํานวนใบหรือทางใบของปาล์มน้ำมันในแต่ละปี จะมีอยู่ระหว่าง 30 – 40 ทางใบ หลังจากนั้นจะลดลงเป็น 20 – 25 ทางใบ/ปี
ทางใบจะเกิดในลักษณะเป็นเกลียวรอบต้น โดยลักษณะการเวียนของทางใบปาล์มน้ำมัน มี 2 แบบ ซึ่งสามารถสังเกตจากรอยแผลที่ฐานใบติดกับลําต้นหลังการตัดแต่งทางใบของต้นปาล์มแล้ว

ลักษณะการเวียนของทางใบปาล์มน้ำมัน มี 2 แบบ

  • แบบแรก คือการเกิดทางใบแบบเวียนซ้าย (leaf-hand phyllotaxy)
  • แบบที่สอง คือการเกิดทางใบเวียนขวา (right-hand phyllotaxy)

การสังเกตการเวียนของทางใบจะมีประโยชน์สําหรับการนับทางใบที่เกิดขึ้น ทางใบจะเรียงอยู่ในลักษณะสองระดับเหลี่อมกันอย่างเป็นระเบียบ ในแต่ละข้างของแกนทางใบ ซึ่งเป็นลักษณะจําเพาะของ E.guineensis ที่ต่างจากพืชชนิดอื่น ทั้งนี้ทางใบปาล์มน้ำมันจะติดอยู่กับลําต้นหลายๆ ปี ไม่หลุดออกจากต้นง่ายๆ เคยพบว่าอยู่นานถึง 20 ปีก็มี   ดังนั้นจึงต้องมีการตัดแต่งทางใบให้คงเหลือตอใบค้างอยู่ที่ลําต้น

ลักษณะการเวียนของทางใบปาล์มน้ำมัน, ทางใบ, เวียนทางใบ, ทางใบปาล์มน้ำมัน

ลักษณะการเวียนของทางใบปาล์มน้ำมัน, ทางใบ, เวียนทางใบ, ทางใบปาล์มน้ำมัน

 

4 .ช่อดอก (Inflorescences)

ปาล์มน้ำมัน, ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปาล์มน้ำมัน, ช่อดอกปาล์มน้ำมัน
ช่อดอกปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชผสมข้ามดอกเพศเมียและดอกเพศผู้ แยกช่อดอกภายในต้นเดียวกัน (monoecious) ที่ตําแหน่งของทางใบมีตาดอก 1 ตา อาจจะพัฒนาเป็นช่อดอกเพศผู้หรือเพศเมีย บางครั้งจะพบว่ามีช่อดอกกะเทยซึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่รวมกัน (hermaphrodite)

  • การบานของดอกปาล์มน้ำมันแต่ละดอกไม่พร้อมกัน การพัฒนาจากระยะตาดอก จนถึงดอกบานพร้อมที่จะรับการผสม (anthesis) ใช้เวลาประมาณ 33 – 34 เดือน
  • การเปลี่ยนเพศของตาดอก (sex differentiation) จะเกิดขึ้นในช่วง 20 เดือนก่อนดอกบาน ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ช่อดอกจะพัฒนาเป็นช่อดอกเพศเมียเป็นส่วนใหญ่
  • การผสมเกสรมีลมและแมลงเป็นพาหะ โดยเฉพาะ ด้วงงวงปาล์มน้ำมัน (Elaeidobius kamerunicus) เป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรที่สําคัญหลังจากการผสมเกสร 5 – 6 เดือน ช่อดอกตัวเมียจะพัฒนาไปเป็นทะลายที่สุกแก่เต็มที่ สามารถเก็บเกี่ยวได้

ลักษณะช่อดอกปาล์มน้ำมัน, ช่อดอกปาล์มน้ำมัน, ช่อดอกตัวผู้, ช่อดอกตัวเมีย, ช่อดอกกระเทย, ช่อดอกเพศผู้, ช่อดอกเพศเมีย, ช่อดอกปาล์ม

4.1 ช่อดอกตัวเมีย (female inflorescences)
เป็นแบบ spike ยาวประมาณ 24-45 เซนติเมตร มีกาบหุ้ม (bract) เจริญเป็นหนามยาว 1 อัน กาบรอง (bractiole) 2 แผ่นและมีกลีบดอก (perianth) 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ห่อหุ้มรังไข่ 3 พูไว้ ยอดเกสรตัวเมียมี 3 แฉก เมื่อดอกบาน แฉกนี้จะโค้งเปิดออก

  • วันแรกกลีบดอกเป็นสีขาว ตรงกลางมีต่อมผลิตของเหลว เหนียว
  • วันต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพู
  • วันที่ 2 – 3 การบานของดอกจะเป็นระยะที่เหมาะสมที่สุดสําหรับการผสมพันธุ์ปาล์มน้ำมัน
  • วันที่ 3 เปลี่ยนเป็น สีน้ำตาลอ่อน
  • วันที่ 4 เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหลังจากผสมเกสรแล้วยอดเกสรตัวเมียจะเปลี่ยนเป็นสีดําและแข็ง

ปาล์มน้ำมันที่โตเต็มที่แล้วช่อดอกตัวเมียมีช่อดอกย่อย ประมาณ 110 ช่อ และมีดอกตัวเมีย ประมาณ 4,000 ดอก

4.2 ช่อดอกตัวผู้ (male inflorescences)
ประกอบด้วยช่อดอกย่อย (spikelet) มีลักษณะยาวเรียว คล้ายนิ้วมือ แต่ละอันยาวประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร หนา 0.8 – 1.5 เซนติเมตร ดอกตัวผู้ที่เจริญเต็มที่ ก่อนที่จะบานมีขนาดกว้าง 1.5 – 2 มิลลิเมตร ยาว 3 – 4 มิลลิเมตร ถูกห่อหุ้มด้วยกาบหุ้มรูปสามเหลี่ยม 1 แผ่น มีกลีบดอก 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 6 อัน รวมกันอยู่เป็นท่อตรงกลางดอก อับเกสรตัวผู้ มี 2 พู ละอองเกสรจะหลุดจากช่อดอกทั้งหมดภายในเวลา 3 วัน ถ้าอากาศชื้นจะใช้เวลามากขึ้น ละออง เกสรจะมีชีวิตอยู่ได้ 7 วัน แต่หลังจากวันที่ 4 ความมีชีวิตจะต่ำลง ต้นปาล์มน้ำมันที่โตเต็มที่ ช่อดอกตัวผู้ 1 ดอก ให้ละอองเกสรที่มีน้ำหนักประมาณ 30 – 50 กรัม

4.3 ช่อดอกผสมหรือกระเทย (mixed or hermaphrodyte inflorescences)
ช่อดอกประเภทนี้ คือช่อดอกที่มีช่อดอกย่อยทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน เกิดขึ้นในบางโอกาสเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่ปาล์มเริ่มผลิตช่อดอกใหม่ (อายุประมาณ 3 – 4 ปี) โดยทั่วไปช่อดอกย่อยเพศผู้จะอยู่ทางส่วนโคนและปลายของช่อดอกใหญ่ ช่อดอกประเภทนี้เป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ เพราะจะทําให้ผลผลิตต่ำ

 

5. ทะลาย (bunch)

ทะลาย, ปาล์มน้ำมัน
ทะลาย ปาล์มน้ำมัน

ทะลายปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย ก้านทะลาย ช่อทะลายย่อย และผล
ในแต่ละทะลายมีปริมาณผล 45 -70 เปอร์เซ็นต์ ทะลายปาล์มน้ำมันเมื่อสุกแก่เต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 1 – 60 กิโลกรัม แปรไปตามอายุของปาล์มน้ำมัน และปัจจัยสิ่งแวดล้อม การปลูกเป็นการค้าต้องการทะลายที่มีน้ำหนัก 10 – 25 กิโลกรัม จํานวนทะลาย/ต้น ก็มีความแตกต่างเช่นกัน โดยมีสหสัมพันธ์ทางลบกับน้ำหนักทะลาย

 

 

6. ผล (fruit)

ปาล์มน้ำมัน, ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปาล์มน้ำมัน, เมล็ดปาล์มน้ำมัน
ผลปาล์มน้ำมัน

ผลปาล์มน้ำมัน ไม่มีก้านผล (sessile drup) รูปร่างมีหลายแบบ ตั้งแต่รูปเรียวแหลม จนถึงรูปไข่หรือรูปยาวรี ความยาวผลอยู่ระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตร น้ำหนักผลมีตั้งแต่ 3 กรัม จนถึง ประมาณ 30 กรัม ประกอบด้วยผิวเปลือกนอก (exocarp) ชั้นเปลือกนอก (mesocarp) เป็นเนื้อเยื่อเส้นใย สีส้มแดงเมื่อสุกและมีน้ำมันอยู่ในชั้นนี้
ปาล์มน้ำมันที่ปลูกเป็นการค้าโดยทั่วไปพบว่ามีสีผลที่ผิวเปลือกนอก มี 3 ลักษณะ คือ

  • แบบที่ 1 เมื่อผลดิบมีสีดํา ปลายผลมีสีงาช้างจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อสุกแล้ว (deep reddish-orange) เรียกลักษณะนี้ว่า nigrescens
  • แบบที่ 2 เมื่อผลดิบเป็นสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อสุก (light reddish-orange) เรียกลักษณะนี้ว่า virescens โดยทั่วไปพบน้อยกว่าแบบแรก
  • แบบที่ 3 เรียกว่า albescens มีสีผิวเปลือกเมื่อสุกเป็นสีเหลืองซีด โดยทั่วไปพบน้อยมาก
ผลปาล์มน้ำมัน, ทะลายปาล์มน้ำมัน, ปาล์มน้ำมัน
ลักษณะของผลปาล์มน้ำมัน

 

7. เมล็ด (seeds)

เมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน, พันธุ์ปาล์มน้ำมัน, ซีพีไอ
พันธุ์ปาล์มน้ำมัน, เมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน

เมล็ดของปาล์มน้ำมัน มีลักษณะแข็ง ประกอบด้วย กะลา (endocarp) และเนื้อใน ซึ่งเจริญมาจากไข่ 1 – 3 อัน บางครั้งพบ 4 อัน ขนาดของเมล็ดขึ้นอยู่กับความหนาของกะลา และขนาดของเนื้อในบนกะลาจะมีช่องสําหรับงอก (germ pore) 3 ช่องในกะลา ประกอบด้วย อาหารต้นอ่อน (endosperm) หรือเนื้อใน สีขาวอมเทาซึ่งมีน้ำมันสะสมอยู่ และมีเยื่อ (testa) สีน้ำตาลแก่ หุ้มอยู่ โดยมีเส้นใยรองรับระหว่างเยื่อหุ้มกับกะลาอีกชั้นหนึ่งภายในเนื้อในตรงกันข้ามกับช่องสําหรับ งอกมีต้นอ่อนฝังตัวอยู่มีลักษณะตรง ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร
โดยปกติเมล็ดปาล์มน้ำมันมีการพักตัวซึ่งสามารถทําลายการพักตัวโดยการอบด้วยความร้อน เมล็ดจะงอกเมื่อได้รับการกระตุ้นโดยอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ขบวนการงอกจะเกิด ในระยะเวลา 3 – 4 วัน แต่ละเมล็ดจะใช้เวลาในการงอกแตกต่างกัน ต้นอ่อนในเมล็ดเริ่มมีการเจริญเติบโตนั้น ยอดของใบเลี้ยงจะขยายใหญ่ขึ้นมีสีเหลือง เรียกว่า จาว (haustorium) และยังคงฝังตัวอยู่ในเนื้อใน ทําหน้าที่ดูดอาหารมาเลี้ยงต้นอ่อน จาวจะผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยอาหารต้นอ่อนให้เป็นของเหลว ไปเลี้ยงต้นอ่อนเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน จนกระทั่งต้นอ่อนสามารถสังเคราะห์แสงเองได้

 

อ่านบทความ : เมล็ดปาล์มน้ำมัน และ ผลปาล์มน้ำมัน ต่างกันอย่างไร? และมีประโยชน์อย่างไร?

 


ที่มา :
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา, กรมวิชาการเกษตร

 

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน