โรคปาล์มน้ำมัน ที่พบในประเทศไทย มีอะไรบ้าง มีอาการและมีวิธีป้องกันกำจัดอย่างไร?

โรคปาล์มน้ำมัน สามารถเกิดขึ้นได้กับต้นปาล์มน้ำมันในทุกระยะ เช่น ระยะเมล็ด ระยะต้นกล้า ระยะปลูกลงแปลง ระยะที่ให้ผลผลิต ซึ่งโรคต่างๆนั้นมีระดับความรุนแรงในการสร้างความเสียหายให้กับปาล์มน้ำมันแตกต่างกันไป เกษตรกรจึงควรทำความเข้าใจลักษณะอาการของโรคเพื่อวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง และจากการสำรวจและเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติของปาล์มน้ำมันในประเทศไทย พบโรคและอาการผิดปกติ มีดังนี้

1. โรคที่เกิดกับเมล็ดปาล์มน้ำมัน

1.1  โรคบราวน์เยิม

โรคปาล์ม, โรคบราวน์เยิม, โรคปาล์มน้ำมัน
ลักษณะอาการ: โรคบราวน์เยิม (Brown Germ Disease)
ขอบคุณภาพจาก : scialert.net

โรคบราวน์เยิม (Brown Germ Disease) เป็นโรคที่พบในห้องเพาะเมล็ดซึ่งงอกแล้ว ก่อนที่จะนำไปทำขั้นตอนการปลูก โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายส่วนที่เป็นรากอ่อนและยอดอ่อน มักพบโรคนี้ประมาณ 1-4% (หากอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมจะมีโอกาสพบโรคนี้ได้มากถึง 40%)
อาการของโรค เกิดแผลสีน้ำตาลที่ปลายรากอ่อนและยอดอ่อน ต่อมาแผลจะขยายตัวทำลายเนื้อเยื่อของรากและยอดอ่อนให้เน่าตาย ในบางครั้ง เมล็ดจะสร้างรากแขนงออกมาทดแทนแต่การเจริญเติบโตจะหยุดชะงักไปชั่วคราวจึงไม่เหมาะกับการนำไปเพาะ
สาเหตุ เกิดจากเชื้อราประเภท Aspergillus spp., Penicillum spp. และ Fusarium spp.
การป้องกันและกำจัดโรค
1. เก็บเมล็ดไว้ในที่ๆ มีความชื้นต่ำกว่า 19%
2. ทำความสะอาดเมล็ดโดยเอาเส้นใยออกให้หมด
3. แยกเมล็ดแตกออก
4. หลีกเลี่ยงการใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราและแมลง และสารเคมีบางชนิดที่มีส่วนประกอบของทองแดง และปรอท เพราะจะทำให้เกิดอันตรายกับส่วนอ่อนที่เริ่มงอก

1.2  โรคจากเชื้อเห็ด

โรคจากเชื้อเห็ด (Schizophyllum Commune) พบมากในกรณีที่ทำความสะอาดเมล็ดไม่ดีพอ หรือ การที่มีเปลือกหลงเหลือติดอยู่กับเมล็ด และการเก็บเมล็ดในที่ที่มีความชื้นมากเกินไป
อาการของโรค จะพบเส้นใหญ่สีขาวขึ้นปกคลุมเมล็ด โดยเส้นใหญ่นั้นจะเจริญเติบโตเข้าไปทำลายด้านในของเมล็ด หากเมล็ดมีความชื้นมากจะเกิดดอกเห็ดสีขาวขึ้นบนเมล็ด
สาเหตุ เชื้อเห็ด Schizophyllum sp.
การป้องกันและกำจัดโรค
1. แยกเมล็ดที่เป็นโรคออก
2. แยกเมล็ดที่แตกร้าวออก
3. แยกเส้นใยออกจากเมล็ดให้หมด ไม่ให้มีเส้นใยของปาล์มน้ำมันหลงเหลืออยู่ เพราะจะกลายเป็นอาหารของเชื้อเห็ด
4. เก็บเมล็ดไว้ในที่ที่มีความชื้นต่ำกว่า 19%

 

2. โรคที่เกิดในระยะต้นกล้า

2.1  โรคใบไหม้

โรคปาล์ม, โรคใบใหม่, โรคปาล์มน้ำมัน
ลักษณะอาการ: โรคใบใหม่

โรคใบไหม้ (Curvularia Seeding Blight) เป็นโรคสำคัญ พบมากในช่วงระยะต้นกล้าปาล์ม และพบในระยะที่ลงแปลงปลูกในช่วง 1 ปีแรก
อาการของโรค มักพบอาการบนใบอ่อน ซึ่งส่วนมากจะเป็นช่วงที่ใบเริ่มคลี่ โดยระยะแรกจะเกิดเป็นจุดเล็กๆ ลักษณะโปร่งใส ระยะต่อมาเมื่อแผลขยายเต็มที่จะมีสีน้ำตาลแดงขอบสีน้ำเงินเข้มมีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ แผลจะมีรูปร่างทรงกลมรี มีความยาวของแผลประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ไม่เหมาะกับการนำไปปลูก เพราะต้นกล้าเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ หากอาการรุนแรงอาจจะทำให้ใบใหม่และต้นกล้าตายได้
สาเหตุ เชื้อรา Curvularia sp.
การป้องกันและกำจัดโรค
1. แยกต้นที่มีอาการออกมาเผาทำลาย
2. พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ไม่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ
เช่น ไทแรม 75% WP ในอัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
3. ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด

2.2  โรคใบจุด

โรคปาล์ม, โรคใบจุด, โรคปาล์มน้ำมัน
Photo by Monica L. Elliott, Professor, Plant Pathology, University of Florida, Institute of Food and Agricultural Sciences (UF/IFAS)

โรคใบจุด (Halminthosporium leaf spot) มักพบกับต้นกล้าปาล์มน้ำมันอายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป ในช่วงที่มีสภาพอากาศแล้งจัดหรือมีความชื้นน้อย
อาการของโรค พบบนใบอ่อนได้เช่นเดียวกัน แต่ลักษณะแผลจะเป็นจุดสีเหลืองกลมเล็กๆ มีขอบวงแหวนสีเหลือง ความหนาแน่นของจุดจะมีปริมาณมากกว่าโรคใบไหม้ โดยมากมักเกิดเป็นกลุ่มๆ และมักเกิดบริเวณปลายใบเข้ามา
เมื่อมีอายุเยอะขึ้นจุดแผลสีเหลืองจะกลายเป็นจุดสีน้ำตาล เมื่ออาการรุนแรงจุดสีเหลืองจะขยายตัวรวมกัน ทำให้ใบเหลืองทั้งใบ บนปลายใบเริ่มแห้งเป็นสีน้ำตาล
สาเหตุ เชื้อรา Drechslera sp.
การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อรา ปลิวไปตามลม และน้ำ
การป้องกันและกำจัดโรค
1. แยกต้นที่มีอาการออกมาเผาทำลาย
2. ฉีดพ่นด้วยสารป้องกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ไทแรม หรือ แคปเทน ให้ทั่วทั้งต้นและใต้ใบ

2.3 โรคแอนแทรคโนส

โรคปาล์ม, โรคปาล์มน้ำมัน
ลักษณะอาการ: โรคแอนแทรคโนส

โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose) โรคนี้เกิดมากในสภาพต้นกล้าที่พึ่งย้ายปลูกต้นปาล์มน้ำมันใหม่ๆ หรือแปลงปลูกที่มีความชื้นสูง
อาการของโรค จะมีแผลลักษณะยาวรีบนใบปาล์ม โดยแผลจะมีลักษณะสีน้ำตาลเพราะเนื้อเยื่อของพืชตาย แผลจะยุบลงเล็กน้อย ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยสีเหลือง บริเวณแผลจะมีจุดดำเล็กๆ เรียงเป็นวงๆ โดยขนาดแผลจะขยายเพิ่มตามความรุนแรงหรือสภาพความชื้นที่เหมาะสม
สาเหตุ เชื้อรา Collectotrichum sp.
การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อรา ปลิวไปตามลม และน้ำ
การป้องกันและกำจัดโรค
1. วางต้นกล้าให้มีระยะห่างกัน ไม่ควรวางชิดกันจนเกินไป
2. จัดการระบบการให้น้ำ โดยทำให้มีลักษณะเป็นฝอยๆ ให้มากที่สุด เพราะถ้าเป็นน้ำหยดใหญ่จะทำให้เกิดแผลบนใบได้ ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าทำลาย
3. ป้องกันการระบาดของโรคโดยแยกต้นที่มีอาการออกมาจากแปลงปลูก
4. ฉีดพ่นสารป้องกำจัดโรคพืช เช่น ไทแรม หรือ แคปแทน หรือ ไทอะเบนดาโซล ทุกๆ 10 วัน ในช่วงที่โรคระบาด

2.4 โรคบลาส

โรคบลาส (Blast) ต้นกล้าจะเป็นโรคนี้มากในช่วงอายุ 6-8 เดือน หรือในสภาพที่ขาดน้ำ
อาการของโรค
– ระยะแรกใบของต้นกล้าปาล์มน้ำมัน จะมีสีเหลืองซีด โดยเฉพาะช่วงปลายใบจะมีลักษณะด้านคือไม่มีความมัน ต่อมาสีของไม้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวมะกอก ปลายใบจะแห้งเปลี่ยนเป็นสีม่วงน้ำตาลต่อมาจะลุกลามทั้งใบจนเนื้อเยื่อของใบตาย
– อาการมักเริ่มจากใบล่างลุกลามขึ้นไปยังใบยอด บางครั้งจะพบอาการยอดเน่า เมื่อมีอาการรุนแรงต้นกล้าปาล์มจะแห้งตายภายใน 2-3 วัน
*หมายเหตุ: โรคบลาส แตกต่างจากโรครากเน่าในปาล์มน้ำมัน เมื่อถอนรากดูจะพบว่าชั้น cortex ถูกทำลายจึงสามารถดึงรากหลุดออกได้ง่าย การเน่าของรากจะลุกลามขึ้นไปจนถึงเนื้อเยื่อของต้น แต่ไม่เข้าทำลายส่วนสำคัญของลำต้นปาล์ม
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia lamellifera และ Pythium splendens
การแพร่ระบาด มีหลายปัจจัย เช่น ความแข็งแรงของต้นกล้า การให้ร่มเงา การให้น้ำ  แมลงพาหะของโรคอย่างเช่นเพลี้ยจักจั่น ซึ่งอาศัยอยู่บนวัชพืชในแปลงปลูกปาล์ม
การป้องกันและกำจัดโรค
1. แปลงเพาะควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือควรให้น้ำปาล์มน้ำมันอย่างเพียงพอ
2. ลดอุณหภูมิของดิน รักษาความชื้นในดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
3. ควรกำจัดวัชพืชออกโดยใช้สารเคมี aldicarb (temik) จำนวน 2 กรัม/ต้น/เดือน ในบริเวณที่มีแมลงพาหะของโรคอาศัยอยู่
4. ใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อบำรุงต้นกล้าให้แข็งแรง

2.5 โรครากเน่าของต้นกล้า

โรครากเน่าของต้นกล้า (Nursery Root Rot) โรคนี้พบมากในสภาวะที่มีฝนตกมากหลังจากแล้งติดต่อกันยาวนาน
อาการของโรค อาการจะคล้ายกับ โรคบลาส แต่บริเวณรากจะเน่าเป็นสีน้ำตาล ภายในรากจะกลวง เมื่อพบอาการใบเหลืองซีด และใบยอดมีอาการแห้ง แสดงว่ารากแก้วได้ถูกทำลายลงหมดแล้ว

 

3. อาการผิดปกติที่เกิดในระยะต้นกล้า

3.1  Collante

Collante เป็นอาการของต้นปาล์มน้ำมันที่ได้รับน้ำไม่เพียงพอ พบมากในช่วงฤดูแล้ง ฤดูที่มีอากาศร้อนจัด
ลักษณะอาการ บริเวณใบยอดจะติดกันเป็นหลอดกลม อาจจะติดกับยอด หรืออาจจะติดเฉพาะโคน หรือปลายยอด ทำให้ต้นกล้าปาล์มน้ำมันไม่สามารถแทงยอดใหม่ได้ ต้นกล้าปาล์มจะไม่มีการเจริญเติบโตต่อไป
สาเหตุ การขาดน้ำ

3.2  Nursery Transplanting Chock

ลักษณะอาการ ใบยอดจะแสดงอาการเขียวจัดกว่าปกติ และจะเริ่มเหี่ยวจนเป็นสีเขียวน้ำตาล โดยเริ่มจากโคนใบ จนกระทั่งยอดใบแห้ง และใบถัดมาเริ่มแสดงอาการแห้งให้เห็นจนสามารถดึงต้นหลุดออกจากเมล็ดได้ นอกจากนี้รากจะเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาลภายในกลวง
สาเหตุ ขาดความระมัดระวังในการย้ายต้นกล้า หรือทำการถอนย้ายต้นกล้าในขณะที่อากาศร้อนจัดจนเกินไป หรือถอนกล้าทิ้งเอาไว้นานเกินไป หรือไม่ใช้วิธีการปลูกที่ถูกต้อง

3.3  ใบไหม้เนื่องจากปุ๋ย (Fertilizer burn)

ใบไหม้เนื่องจากปุ๋ย, โรคปาล์ม, โรคปาล์มน้ำมัน,
ลักษณะอาการ: ใบไหม้เนื่องจากปุ๋ย
ขอบคุณภาพจาก : scialert.net

ลักษณะอาการ จะแสดงอาการบริเวณยอดใบอ่อน โดยจะเริ่มซีดและแห้งลงอย่างรวดเร็ว ส่วนที่จะแสดงอาการนั้นจะฉีกขาดง่าย ขอบของแผลจะไม่เห็นชัดเท่าอการของโรคต่างๆ
สาเหตุ ให้ปุ๋ยในขณะอากาศร้อนจัด หรือมีอากาศแห้งแล้งจัด หรือให้ปุ๋ยในอัตราที่สูงเกินไป

3.4  พิษจากยาฆ่าหญ้า (Herbicides toxicity)

พิษจากยาฆ่าหญ้า, ใบไหม้จากยาฆ่าหญ้า, โรคปาล์ม, โรคปาล์มน้ำมัน,
ลักษณะอาการ: พิษจากยาฆ่าหญ้า (Herbicides toxicity)
ขอบคุณภาพจาก : idtools.org

ลักษณะอาการ เกิดจุดแผลยุบตื้นๆมีลักษณะด้าน(ไม่มัน) มีขนาดไม่แน่นอน ขอบของแผลสีเข้มจัดชัดเจน ขอบแผลมีวงสีเหลืองล้อมรอบ
สาเหตุ พิษจากยาฆ่าหญ้า
*อ่านบทความ : ละอองยาฆ่าหญ้า..ส่งผลเสียต่อต้นปาล์มน้ำมันอย่างไร??

ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน, ปุุ๋ยสำหรับปาล์มน้ำมัน, ปุ๋ยเคมี, ปุ๋ยใส่ปาล์ม, ปุ๋ยปาล์มที่ดีที่สุด, ปุ๋ยใส่ปาล์มยี่ห้อไหนดี, ปาล์มน้ำมัน, ธาตุอาหาร, ปุ๋ยใส่ต้นปาล์ม, ปลูกปาล์ม, ปุ๋ยยูเรีย, ปุ๋ยสำเร็จรูป, ไนโตรเจน,ฟอสฟอรัส,โพแทสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, กำมะถัน, โบรอน, ทองแดง, สังกะสี, ปุ๋ยบำรุงปาล์ม, การให้ปุ๋ย, การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน
ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน “ซีพีไอ พลัส” ปุ๋ยที่วิจัยจากความต้องการของต้นปาล์มนำ้มัน – โทร. 077-975-222

 

4. โรคปาล์มน้ำมัน

4.1  โรคใบไหม้

โรคปาล์ม, โรคใบใหม่, โรคปาล์มน้ำมัน
ลักษณะอาการ: โรคใบใหม่

โรคใบไหม้ (Curvularia leaf spot) (อาการเหมือนกับที่เกิดในระยะต้นกล้า) มักพบในระยะที่ลงแปลงปลูกในช่วงปีแรก
อาการของโรค มักพบอาการบนใบอ่อน ซึ่งส่วนมากจะเป็นช่วงที่ใบเริ่มคลี่ โดยระยะแรกจะเกิดเป็นจุดเล็กๆ ลักษณะโปร่งใส ระยะต่อมาเมื่อแผลขยายเต็มที่จะมีสีน้ำตาลแดงขอบสีน้ำเงินเข้มมีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ แผลจะมีรูปร่างทรงกลมรี มีความยาวของแผลประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ไม่เหมาะกับการนำไปปลูก เพราะต้นกล้าเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ หากอาการรุนแรงอาจจะทำให้ใบใหม่และต้นกล้าตายได้
สาเหตุ เชื้อรา Curvularia sp.
การป้องกันและกำจัดโรค
1. แยกต้นที่มีอาการออกมาเผาทำลาย
2. พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ไม่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ
เช่น ไทแรม 75% WP ในอัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
3. ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด

4.2  โรค Algal Disease

อาการของโรค โรค Algal มีอาการจุดแผลสีเหลืองส้มลักษณะฟูเท่าหัวเข็มหมุดมักไม่ค่อยมีความสำคัญ พบมากในทางใบย่อยของทางใบแก่เท่านั้น
สาเหตุ แอลจีพวก Cephaleuros uirescens

4.3  โรคทางใบบิด (Crown Disease)

โรคปาล์ม, โรคใบบิด, ปาล์มใบบิด, ใบปาล์มบิด, โรคปาล์มน้ำมัน, Crown Disease palm oil disease
ลักษณะอาการ: โรคใบบิด

อาการของโรค โรคทางใบบิด พบมากกับปาล์มน้ำมันในแปลงปลูกซึ่งมีอายุประมาณ 1-3 ปีเป็นโรคที่พบได้โดยทั่วไป อาการในระยะแรกพบที่กลางใบยอด จะเกิดแผลสีน้ำตาลลักษณะฉ่ำน้ำ แผลขยายตัว ทำให้ทางใบย่อยไม่คลี่ เกิดอาการเน่า ทำให้ยอดมีลักษณะโค้งงอลง เมื่อทางยอดคลี่ออกจะพบว่าบริเวณกลางทางใบเป็นแผลแห้งหรือฉีกขาดรุ่งริ่งเหลือแต่เส้นกลาง ในกรณีที่อาการของโรครุนแรงจะเกิดอาการโค้งงอเช่นนี้ในหลายๆ ทางใบ โดยรอบจึงดูแล้วมีลักษณะคล้ายมงกุฎ (Crown)
สาเหตุ  เกิดจากสรีระ และถ่ายทอดทางพันธุกรรม
การป้องกันและกำจัดโรค
1. ตัดส่วนยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ซึ่งแสดงอาการของโรค ออกให้หมด
2. พ่นด้วยสารเคมี เช่น แคปแทน หรือ ไทอะเบ็นดาโซล เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ เข้าทำลายซ้ำเติม
*อ่านบทความ : “ปาล์มใบบิด” เกิดได้อย่างไร ดีหรือเลว ใช่โรคปาล์มหรือไม่ แก้อย่างไร? ฟันทิ้งดีไหม?

4.4  โรคก้านทางใบเน่า

โรคก้านทางใบเน่า มักพบในต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุประมาณ 2 ปี
อาการของโรค ใบย่อยจะมีสีเขียวเข้มลักษณะของผิวใบจะด้าน(ไม่มัน) ปลายทางใบจะบิด เมื่อเป็นมากปลายทางใบจะเกิดรอยแตกสีน้ำตาลอมม่วง ตามความยาวของทางใบ เมื่อฉีกดูจะพบว่าภายในจะเน่าเป็นสีน้ำตาลเริ่มจากปลายทางใบไปหาโคนทางใบ
สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด

4.5  โรคยอดเน่า (Spear Rot)

โรคปาล์ม, โรคปาล์มน้ำมัน, โรคยอดเน่าในปาล์มน้ำมัน, โรคยอดเน่า
ลักษณะอาการ: โรคยอดเน่า
โรคปาล์ม, โรคปาล์มน้ำมัน, โรคยอดเน่าในปาล์มน้ำมัน, โรคยอดเน่า
ลักษณะอาการ: โรคยอดเน่า

โรคยอดเน่า เป็นโรคที่พบได้ทั้งในระยะต้นกล้า และในแปลงปลูก ส่วนมากพบกับปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 1-3 ปี ระบาดมากในช่วงฤดูฝนและอยู่ในสภาพน้ำขัง
อาการของโรค โคนยอดจะเกิดเน่าในระยะแรก ทางยอดเหลือง เกิดแผลเน่ามีสีน้ำตาลดำที่โคนยอด ต่อมาแผลจะขยาย ทำให้ใบยอดเน่าแห้งและสามารถดึงหลุดออกได้ กรณีการเน่าลุกลามจะทำให้ต้นปาล์มนำ้มันตายได้
สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่จากการแยกหาเชื้อในห้องปฎิบัติการพบเชื้อรา Fusarium spp. และแบคทีเรีย Erwinia sp.
การป้องกันและกำจัดโรค
1. กำจัดวัชพืชรอบโคนต้นปาล์มน้ำมัน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของแมลงที่จะไปกัดบริเวณยอด
2. ตัดส่วนที่เป็นโรคออกให้หมด จากนั้นทาบริเวณรอยตัดด้วยปูนแดง

4.6  โรคตาเน่า-ใบเล็ก (Bud Rot – Little leaf Disease)

โรคตาเน่า มักพบกับปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไป และระบาดมากในช่วงฤดูฝน
อาการของโรค ใบยอดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเน่าบริเวณกลางใบ จนกระทั่งเน่าแห้งไปทั่วทั้งใบ อาการเน่าจะลุกลามถึงตาทำให้ตาเน่าไม่มีการแทงยอดใหม่ ต้นปาล์มน้ำมันจะตาย แต่ถ้าสภาพไม่เหมาะสมเชื้อโรคจะทำลายไม่ถึงตาซึ่งอาจจะมีการแทงยอดออกมาใหม่ได้แต่จะมีลักษณะผิดปกติคือทางใบจะสั้นปลายกุดมักจะพบในลักษณะนี้ 1-4 ทางแล้วจึงเกิดทางปกติ
สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

4.7  โรคทะลายเน่า (Marasmius Bunch Rot)

โรคปาล์ม, โรคปาล์มน้ำมัน, โรคทะลายปาล์มน้ำมันเน่า, โรคทะลายเน่า
ลักษณะอาการ: โรคทะลายเน่า

โรคทะลายปาล์มน้ำมันเน่า พบมากในช่วงที่ปาล์มน้ำมันอายุ 3-9 ปี มักพบในภาวะความสัมพันธ์กับอากาศชื้นในฤดูฝนที่มีมาก ความชื้นสูง
อาการของโรค
• ในระยะแรกจะพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราบนทะลายปาล์มน้ำมัน โดยเส้นใยเจริญอยู่บริเวณช่องระหว่างผลปาล์มน้ำมันและโคนทะลายส่วนที่ติดทางใบ
• ระยะต่อมา เส้นใยจะขึ้นปกคลุมทั่วทั้งทะลาย และเจริญเข้าทำลายผลปาล์มน้ำมัน ทำให้เกิดอาการเน่าเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดกรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในผลที่เน่า
• ถ้าหากทะลายที่แสดงอาการยังคงติดอยู่บนต้น ผลจะแสดงอาการเน่าแห้งและมีเชื้อราชนิดอื่นๆ เข้าทำลายภายหลัง ในแปลงที่ไม่มีการกำจัดทะลายที่แสดงอาการเน่าออกจากต้น จะกระจายไปยังทะลายอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งส่วนอื่น ๆ ของต้นปาล์มน้ำมัน เช่น บนโคนก้านทาง ก้านทาง หรือบน ใบย่อย
สาเหตุ เชื้อเห็ด Marasmius palmivorus
การป้องกันและกำจัดโรค
1. กำจัดโดยวิธีทางเขตกรรม คือกำจัดส่วนที่เป็นโรคออก
2. มั่นดูแลการผสมเกสรให้เพียงพอ
3. มั่นเก็บทะลายที่มีการผสมเกสรที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมด
4. ควรหลีกเลี่ยงการตัดช่อดอกหรือทะลายทิ้ง ซึ่งยิ่งเกิดโรคเพราะเป็นการไปเร่งให้ปาล์มสร้างทะลายจำนวนมาก ในระยะที่ต้นปาล์มน้ำมันอยู่ในระยะกำลังเจริญเติบโต
5. มั่นตัดแต่งก้านทางใบ เพื่อช่วยลดความชื้นที่คอปาล์ม

*อ่านบทความ : “โรคทะลายปาล์มเน่า” อาการเป็นอย่างไร? มีวิธีป้องกันและกำจัดอย่างไร?

4.8  โรคผลเน่า (Fruit Rot)

อาการของโรค โรคผลเน่าจะมีอาการเปลือกนอกของผลอ่อนนุ่มมีสีดำโดยจะเริ่มจากโคนหรือปลายผลเข้ามา โดยมากจะเกิดกับผลที่สุขแล้ว
สาเหตุ เชื้อรา Fusarium sp.,  Aspergillus sp., Collectotrichum sp., Penicillium sp., Botryodiplodia sp.

4.9  โรคเหี่ยว (Sudden Wilt)

อาการของโรค โรคเหี่ยว มักจะเกิดกับต้นปาล์มน้ำมันอายุ 5 ปี โดยจะแสดงอาการเหี่ยวอย่างรวดเร็ว เริ่มจากทางใบแก่ก่อน จะพบว่าทางใบแห้งคล้ายถูกไฟไหม้จนต้นตายหลังจากแสดงอาการทางใบแล้ว เมื่อดูลักษณะภายในของการทางจะพบว่ามีอาการเน่าจากปลายใบเข้าหาโคนใบและลุกลามจนทำให้ตาเน่าและลำต้นตายในที่สุด โดยอาการทั้งหมดจะใช้ระบะเวลาประมาณ 1 เดือน
สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

4.10  โรคลำต้นปาล์มส่วนบนเน่า (Upper Stem Rot)

อาการของโรค โรคลำต้นส่วนบนเน่า พบกับส่วนบนของลำต้นปาล์มน้ำมันจากยอดประมาณ 1/2 เมตร นั้นหัก โรคนี้พบครั้งแรกกับต้นปาล์มที่มีอายุ 9 ปี เมื่อทำการผ่าพิสูจน์ดู พบว่าเชื้อเข้าทางฐานของก้าน ทำให้เกิดอาการเน่าบริเวณลำต้น ในขณะที่ตาแล้วรากไม่แสดงอาการผิดปกติ
สาเหตุ จากรายงานในต่างประเทศ พบว่าเกิดจากเชื้อเห็ด Phillinus sp. ร่วมกับ Ganoderma sp.

4.11  โรคราดำ

โรคปาล์ม, โรคปาล์มน้ำมัน, โรคราดำ, โรคราขึ้นใบปาล์ม, ใบปาล์มมีราดำ
ลักษณะอาการ: โรคราดำ
ขอบคุณภาพจาก : stefanlevine.com

โรคราดำ (Sooty mould) โดยมากจะพบในต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป มักเป็นกับทางใบล่างๆ โดยปกติแล้วเชื้อราจะไม่เข้าทำลายแต่จะขึ้นปกคลุมใบทำให้พื้นที่ในการสังเคราะห์แสงลดลง ส่วนใหญ่มักพบโรคราดำบนทางใบแก่ ดังนั้นการตัดแต่งทางใบจะช่วยลดแหล่งของโรคได้
อาการของโรค เกิดกลุมราสีดำขึ้นบนใบ มีลักษณะเป็นปื้นๆ มีรูปร่างไม่แน่นอน เกิดขึ้นส่วนมากบนทางใบแก่และมักจะอยู่ใต้ใบ มักพบเพลี้ยหอยหรือเพลี้ยอ่อนปะปนอยู่ด้วย หากล้างเชื้อราออกจะเห็นว่าเนื้อเยื่อของใบปาล์มไม่ได้ถูกทำลายเพียงแต่มีสีซีดจางลงกว่าส่วนที่ไม่มีเชื้อราปกคลุม
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Brookis sp.
การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อราต้นเหตุ แพร่กระจายไปทางลมและน้ำ เมื่อตกลงบนมูลของแมลงที่ขับถ่ายไว้บนใบปาล์มน้ำมัน สปอร์จะงอกและเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
การป้องกันและกำจัดโรค
ตัดทางใบที่เป็นโรคออก แล้วเผาทำลาย

4.12  โรคผลร่วง

โรคปาล์ม, โรคปาล์มน้ำมัน, โรคผลร่วง, โรคผลปาล์มร่วง, ผลปาล์มร่วง
ลักษณะอาการ: โรคผลร่วง

โรคผลร่วง (Brunch failure)
อาการของโรค ผิวของผลปาล์มน้ำมันจะมีลักษณะด้านกว่าผิวของผลปาล์มปกติ เมื่อมีการกระทบกระเทือนทะลายปาล์ม ผลจะหลุดร่วงง่ายกว่าปกติ อาการมักจะเป็นบางส่วนของทะลายไม่ใช่ทั้งหมด โดยมากมักพบบริเวณปลายของทะลาย
สาเหตุ การขาดธาตุอาหารของปาล์มน้ำมันในช่วงที่มีการให้ผลผลิต หรือเกิดจากการผสมเกสรที่ไม่สมบูรณ์
การป้องกันและกำจัดโรค
1. ทำลายส่วนที่แสดงอาการออกให้หมดเพื่อลดแหล่งสะสมของแมลง
2. หลีกเลี่ยงการขาดน้ำและขาดธาตุอาหารในปาล์ม โดยเฉพาะช่วงที่มีผลผลิตสูง
*อ่านบทความ : ธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันต้องการ


อ้างอิง :
โรคและอาการผิดปกติของปาล์มน้ำมันในประเทศไทย Diseases and disorders of oil palm in Thailand, รายงานการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 25 สาขาพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 3– 6 กุมภาพันธ์ 2530, ผู้แต่ง [1] ศรีสุรางค์ ลิขิตเอกราช (กรมวิชาการเกษตร กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กลุ่มงานโรคพืชน้ำมัน) [2] ปราณี ลิ่มศรีวิไล [3] ปรีชา สุรินทร์ , ปีพิมพ์ 2530, หน่วยงานจัดพิมพ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– ศรีสุรางค์ ลิขิตเอกราช, โรคปาล์มน้ำมัน, เอกสารวิชาการอันดับที่ 16 / 2547 หน้า 119-141,  พิมพ์ครั้งที่ 2, กรมวิชาการเกษตร
– คู่มือการป้องกันกำจัดศัตรูปาล์มน้ำมันโดยวิธีผสมผสาน, กลุ่มวิจัยวัชพืช กรมวิชาการเกษตร, ปีพิมพ์ 2555

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน