ธาตุอาหารพืชในดิน และการเคลื่อนที่ของธาตุอาหารพืชในดิน
(Soil nutrient and Nutrient movement in soil)

ธาตุอาหารพืชในดินธาตุอาหารพืชในดิน

ธาตุอาหารพืชในดิน เป็นธาตุอาหารที่อยู่ภายในดิน มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด ส่งผลต่อการ ออกดอกผลของพืชนั้นๆ ซึงธาตุอาหารพืชในดินมี 13 ธาตุ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สามธาตุนี้ พืชมักต้องการในปริมาณมาก แต่จะมีอยู่ในดินไม่ค่อยพอกับความต้องการ ต้องช่วยโดยการใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ
  • กลุ่มที่ 2 ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน สามธาตุนี้ พืชต้องการมากไม่แพ้กลุ่มที่หนึ่ง แต่ธาตุทั้งสามนี้โดยปกติมักอยู่ในดินค่อนข้างมากเพียงพอกับความต้องการของพืชทั่วๆ ไป
  • กลุ่มที่ 3 ได้แก่ เหล็ก แมงกานีส โบรอน โมลิบดินัม ทองแดง สังกะสี และคลอรีน ธาตุทั้งเจ็ดนี้พืชโดยทั่วไปมีความต้องการปริมาณน้อย เราจึงเรียกธาตุในกลุ่มนี้ว่า จุลธาตุอาหาร ธาตุพวกนี้บางธาตุ ถ้ามีอยู่ในดินเป็นปริมาณมาก เช่น เหล็กและแมงกานีส ก็จะกลับกลายเป็นพิษแก่พืชได้ อย่างไรก็ตามธาตุพวกนี้รวมทั้งในกลุ่มที่ ๒ ต่างก็มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชเท่าเทียมกันหมด และมีความสำคัญเท่าเทียมกับกลุ่มที่ ๑ ด้วยเช่นกัน ถ้ามีธาตุใดขาดไป หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช พืชก็จะหยุดชะงักการเจริญเติบโต และจะตายไปในที่สุด
ตารางการใส่ปุ๋ย ปาล์มน้ำมัน
ธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันต้องการ

 

การเคลื่อนที่ของธาตุอาหารพืชในดิน

การเคลื่อนที่ของธาตุอาหารพืชในดิน จะบอกได้ว่าธาตุตัวนั้นๆมีโอกาสถูกน้ำพัดพาหายไปจากดินได้หรือไม่
การเคลื่อนที่ของธาตุอาหารพืชในดิน
คือ ลักษณะการเคลื่อนที่ เคลื่อนย้าย หรือ แพร่กระจาย หรือการไหล ของธาตุอาหารต่างๆ ในบริเวณดิน เกษตรกรควรทราบข้อมูลเบื้องต้นถึงธาตุอาหารแต่ละชนิดว่ามีลักษณะการเคลื่อนอย่างไร เพื่อประยุกต์ใช้กับสภาพดินภายในสวนปาล์มในการแก้ไขหรือป้องกันการที่ปาล์มจะขาดธาตุนั้นๆ
การเคลื่อนที่ของธาตุอาหารพืชในดิน เป็นตัวชี้วัดอย่างนึงในการใส่ธาตุนั้นๆ ให้กับปาล์ม

 

การเคลื่อนที่ของธาตุอาหารพืชในดินประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

  1. ) โครงสร้างของดิน ถือเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดการเคลื่อนที่ของน้ำและธาตุอาหารในดิน
  2. ) ความเข้มข้นของธาตุอาหาร ธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินสูง ย่อมทำให้พืชดูดไปใช้ได้ง่าย
  3. ) การดูดยึดในดิน (nutrient absorption) ถ้าธาตุอาหารชนิดใดถูกดินดูดยึดไว้แน่น ธาตุอาหารก็จะละลายออกมาได้น้อย

 

ความสามารถในการเคลื่อนที่ของธาตุอาหาร (nutrient mobility) ธาตุอาหารแต่ละชนิดมีความสามารถในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน ซึ่งจะบอกได้ว่าธาตุตัวนั้นๆมีโอกาสถูกน้ำพัดพาหายไปจากดินได้หรือไม่ จึงเป็นตัวชี้วัดอย่างนึงในการใส่ธาตุนั้นๆ ให้กับปาล์ม
• ธาตุอาหารที่เคลื่อนที่ได้ดี (very mobile) หลังจากใส่ธาตุนั้นๆ แล้ว มีโอกาสที่ธาตุจะถูกน้ำพัดพาหายไปจากดินได้มาก  เช่น  ไนเตรท(N) กำมะถัน(S) โบรอน(B) คลอรีน(CI)
• ธาตุอาหารที่เคลื่อนที่ได้จำกัด (limited mobile) เช่น โพแทสเซียม(K)
• ธาตุอาหารที่ไม่เคลื่อนที่ (immobile) หลังจากใส่ธาตุนั้นๆ แล้ว มีโอกาสน้อยที่ธาตุจะถูกน้ำพัดพาหายไปจากดิน  เช่น  แอมโมเนียม ฟอสฟอรัส(P) แคลเซียม(Ca) ทองแดง(Cu)

 

การเคลื่อนที่ของธาตุอาหารในดิน มี 3 แบบ คือ

  1. ) ผ่านผิวรากที่เชื่อมต่อกับดินโดยตรง (root interception) ดินที่มีความร่วนซุยจะทำให้รากแทรกเข้าไปสัมผัสกับผิวดินได้ใกล้ชิดจึงทำให้ธาตุอาหารเคลื่อนที่เข้าสู่รากได้
  2. ) การไหลทั้งลำ (bulk flow) หมายถึงการที่สารละลายหลายชนิดเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันพร้อมกัน ในขณะเดียวกันก็มีการแพร่ของสารแต่ละชนิดเกิดขึ้นในขณะที่ไหลไปทั้งลำด้วย ธาตุหารที่เคลื่อนที่ได้จะมีการไหลเข้าสู่รากแบบไปทั้งลำพร้อมกับน้ำ แรงขับเคลื่อนของวิธีการนี้เกิดจากการคายน้ำของพืช เช่น ไนโตรเจนและกำมะถัน
  3. ) การแพร่ (diffusion) หมายถึงการที่สารเคลื่อนที่ตามความเข้มข้นของสารจากตำแหน่งที่สูงกว่าไปน้อยกว่า จะเคลื่อนที่ในระยะทางสั้นๆ (น้อยกว่า 1 ซม.) อัตราการเคลื่อนที่ของธาตุอาหารในดิน เช่น ฟอสฟอรัสเคลื่อนที่ได้ 0.1 มม./วัน และโพแทสเซียมเคลื่อนที่ได้ 1 มม./วัน ฉะนั้นจะพบว่าแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้พืชดูดน้ำและธาตุอาหารจากดินไปใช้ได้รวดเร็ว คือ วิธีการแบบไหลไปทั้งลำ
การเคลื่อนที่ของธาตุอาหารจากดินเข้าสู่รากพืช
วิธีการเคลื่อนที่ของธาตุอาหารจากดินเข้าสู่รากพืช
(ภาพจาก: http://www.soilfertility.lsu.edu/Agro4052.htm)
ไออน, ธาตุอาหารพืช
กลุ่มไออนของธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดที่เคลื่อนที่ได้ดี (mobile) พืชจะดูดซึมได้แม้ไอออนของธาตุเหล่านั้นอยู่ไกลจากเขตรากพืชออกไป ส่วนธาตุอาหารกลุ่มที่เคลื่อนที่ไม่ได้ (immobile) จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับเขตรากพืชจึงจะถูกดูดซึมได้ดี
(ภาพจาก: http://www.soils4teachers.org/soil-and-food)

.
การจัดการสวนสำหรับการปลูกพืช จึงมีความจำเป็นต้องทำให้รากพืชได้อยู่ใกล้ชิดกับธาตุอาหารแต่ละชนิดให้ได้มากที่สุด และดินต้องมีความชื้นซึ่งช่วยทำให้เกิดการไหลแบบไปทั้งลำได้ โดยมีวิธีการการเช่น นำอินทรียวัตถุคลุมผิวหน้าดิน เพื่อไม่ให้น้ำในดินระเหยออกไปโดยไม่ผ่านการดูดน้ำของราก การใส่ปุ๋ยให้อยู่ในเขตที่รากพืชเข้าไปได้ใกล้ชิด ซึ่งก็คือบริเวณที่มีความชื้น ก็จะช่วยส่งเสริมให้พืชมีการเติบโตที่ดีได้

อ่านบทความ : ธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันต้องการ


อ้างอิง : เอกสารเผยแพร่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ํามัน คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,  ธีระพงศ์ จันทรนิยม, บทบาทของธาตุแมกนีเซียมในการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน