กองทางใบ ในสวนปาล์มน้ำมัน คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร?
…ซีพีไอ มีคำตอบ

กองทางใบ ในสวนปาล์มน้ำมัน มีความสำคัญอย่างไร?

  ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีศักยภาพในการสร้างทางใบที่ค่อนข้างสูง โดยสามารถสร้างทางใบได้ 1-2 ทางใบ/เดือน หรือในปาล์มน้ำมันที่โตเต็มที่จะมีทางใบที่ถูกตัดทิ้งคิดเป็นน้ำหนักแห้ง มากกว่า 1.6 ตัน/ไร่/ปี ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอสมควร ฉะนั้นเกษตรกรชาวสวนปาล์มเองจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการทางใบเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมันโดยส่วนใหญ่จะพบว่า เป็นดินเนื้อหยาบ มีอินทรีย์วัตถุต่ำมาก ค่าพีเอสของดินต่ำ ( PH ต่ำกว่า 5) มีการทิ้งช่วงของฝนที่นาน ทำให้ปาล์มน้ำมันแสดงอาการขาดน้ำบ่อยๆ การนำทางใบปาล์มน้ำมัน มากองให้ง่ายสำหรับการจัดการสวนจึงเป็นวิธีหนึ่งในการจัดการกับทางใบที่ถูกตัดลงมา

รูปแบบของการสร้างกองทางใบ

1. กองทางใบระหว่างแถวทุกแถว
2. กองทางใบระหว่างแถวแบบแถวเว้นแถว
3. กองทางใบระหว่างต้น

ประโยชน์ของการสร้างกองทางใบ

1. รักษาความชื้นในดินให้นานขึ้น โดยการนำทางใบปาล์มน้ำมันมากองให้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร จะช่วยลดการระเหยของน้ำในดินบริเวณนั้นได้ ทำให้ความชื้นในดินอยู่ได้นานส่งผลให้รากปาล์มมีชีวิตได้นานขึ้น
2. เพิ่มอินทรีย์วัตถุและฮิวมัสในดินมากขึ้น โดยทางใบคืออินทรีย์วัตถุที่ถูกและหาง่ายที่สุด เมื่อเกิดการย่อยสลายจะช่วยปรับโครงสร้างดินยึดและชะลอการชะล้างปะจุปุ๋ยออกนอกเขตรากปาล์มน้ำมัน
3. รักษากิจกรรมและความมีชีวิตของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน
4. คืนธาตุอาหารให้กับดิน โดยปาล์มน้ำมันที่โตเต็มที่ จะมีทางใบที่ถูกตัดทิ้งคิดเป็นน้ำหนักแห้งมากกว่า 1.6 ตัน/ไร่/ปี ซึ่งคิดเป็น
ปุ๋ย 46-0-0 = 9.28 กก./ไร่
ร็อคฟอสเฟต = 4.8 กก./ไร่
ปุ๋ยสูตร 0-0-60 = 19.2 กก./ไร่
กีเซอไรด์ = 11.2 กก./ไร่
5. ช่วยลดและชะลอการชะล้างหน้าดินในแปลงปลูก
6. ปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะสมสำหรับการละลายของธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันสามารถนำไปใช้ได้สูงสุด
7. ลดพื้นที่การจัดการสวนลงเหลือแค่ 25 % ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ประหยัดค่าแรงงาน เวลา และปูนโดโลไมด์

ดังนั้นทางใบเป็นของฟรีที่มีอยู่ในสวนอยู่แล้ว เพียงแค่จัดวาง กองทางใบ ให้ง่ายสำหรับการจัดการสวนของเกษตรกรเองก็ทำให้ใช้ประโยชน์จากกองทางใบได้สูงสุดแล้ว

 

อ่านบทความ : การใส่ปุ๋ยบนกองทางใบ


เอกสารอ้างอิง :
บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด 2557.การใส่ปุ๋ย. คู่มือการปลูกปาล์มน้ำมัน.พิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 15 – 16.
ชัยรัตน์ นิลนนท์ จำเป็น อ่อนทอง 2538. การตัดแต่ง.การใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ปาล์มน้ำมัน ภาควิชาธรณีศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. หน้า 57.

 

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน