สภาพแวดล้อมส่งผลต่อการเติบโตของต้นปาล์มน้ำมันอย่างไร?

พืชที่มีทั้งท่อลำเลียงและเมล็ด ถือเป็นพืช ที่มีวิวัฒนาการสูงสุด (angiosperms) มัดท่อลำเลียง (vascular bundle) ประกอบด้วยท่อน้ำ (xylem) และท่ออาหาร (phloem) เป็นหลัก ซึ่งท่อลำเลียง จะเชื่อมโยงประสานกันทั้งต้นตั้งแต่ ราก ลำต้น ใบ ทำให้น้ำ-ธาตุอาหาร และสารอาหารที่พืชสังเคราะห์แสงได้ไหลหมุนเวียนไปได้ทั้งต้น พืชถูกแบ่งออกเป็น 2 คลาส คือ

  1. ใบเลี้ยงเดี่ยว (monocotyledons) เอมบริโอจะมีใบเลี้ยง 1 ใบ ไม่มีการสร้างเนื้อไม้ ท่อลำเลียงมีการกระจายตัว มีระบบรากฝอย เช่น ข้าว ข้าวโพด มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน
  2. ใบเลี้ยงคู่ (dicotyledons) เอมบริโอมีใบเลี้ยง 2 ใบ มีการสร้างเนื้อไม้ ท่อลำเลียงเรียงตัวเป็นระเบียบ มีระบบรากแก้ว เช่น ถั่วเขียว พริก มะม่วง ยางพารา

สภาพแวดล้อมสำคัญ ที่กำหนดการเติบโตของปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย

  • ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ (บ่งบอกถึงปริมาณไอน้ำในอากาศ) ถ้าสภาพอากาศมีความแห้งมาก จนต้นพืชประเมินแล้วว่าไม่คุ้มค่ากับน้ำที่ระเหยออกไป พืชจะมีกลไกในการปิดปากใบที่เป็นช่องควบคุมการคายน้ำให้แคบลง เมื่อปากใบปิดแคบลงคาร์บอนไดออกไซด์ซึงเป็นวัตถุดิบหลักของการสังเคราะห์แสงจึงแพร่เข้าสู่ภายในใบได้น้อยลงด้วย ทำให้การสร้างสารอาหารถูกจำกัด และขนส่งไปยังส่วนต่างๆ ได้น้อย จึงทำให้ต้นพืชเติบโตได้น้อยตามไปด้วย
  • ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัวของฝน เป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมกับปาล์มน้ำมันโดยเฉลี่ยปีละอย่างน้อย ประมาณ 2,000-3,000 มม. ขึ้นไป โดยที่จะต้องไม่มีสภาพแห้งแล้งนานเกินไป ปริมาณการตกของฝนในรอบปี ต้องดีและสม่ำเสมอ เดือนที่มีฝนตกน้อยที่สุด ไม่ควรต่ำกว่า 100 มม. และไม่ควรมีเดือนขาดน้ำนานเกิน 4 เดือน
    หากพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมีปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอสำหรับการเติบโตของปาล์มน้ำมัน ปาล์มที่ปลูกจะให้ผลผลิตต่ำ และหากปาล์มน้ำมันมีสภาพขาดน้ำในรอบปีมาก จะทำให้จำนวนทะลาย น้ำหนักทะลาย และเปอร์เซนต์น้ำมันลดลง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ปริมาณฝนในฤดูฝนจึงมีเพียงพอสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน ส่วนในช่วงฤดูแล้งหากฝนทิ้งช่วง สามารถแก้ไขได้โดยติดตั้งระบบน้ำให้กับปาล์มในสวนของท่าน
  • แสงแดด ทำให้อุณหภูมิอากาศสูงหรือต่ำ ปริมาณแสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญอันดับสองในการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน โดยปกติแล้ว ปาล์มน้ำมันนั้นต้องการแสงแดดมากกว่า 5 ชม./วัน โดยใช้กระบวนการสังเคราะห์แสง เพื่อไปสร้างผลผลิตและส่วนอื่นๆของต้น หากปาล์มน้ำมันได้รับแสงน้อย จะทำให้การเจริญเติบโตลดลง การสร้างดอกตัวเมียน้อยลง ซึ่งมีผลทำให้มีผลผลิตปาล์มน้อยลง ปัญหาเรื่องของแสงนั้นจะมีปัญหาโดยเฉพาะกับปาล์มน้ำมันที่มีอายุปลูกไปแล้วมากกว่า 10 ปี เนื่องจากปาล์มที่ปลูกชิดกันนั้นจะมีการบังแสงของทางใบระหว่างต้น สำหรับในประเทศไทยนั้น จัดว่าเป็นประเทศที่มีแสงแดดเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน
  • ความเข้มข้น ของคาร์บอนไดออกไซด์
  • ความชื้นในดิน
  • ธาตุอาหารพืช

การกำหนดสภาพอากาศ ให้เหมาะสมกับการเติบโตของพืช เป็นไปได้แต่มีต้นทุนที่สูง แต่การให้น้ำและธาตุอาหารพืช (ปุ๋ย) เป็นสิ่งที่กำหนดได้ง่าย รวมถึงการจัดการให้ผิวดินรักษาความชื้นได้ดี เช่น การนำทางใบปาล์มที่ตัดลงมาจากต้น วางให้เป็นระเบียบในสวนปาล์ม คลุมผิวดินเพื่อรักษาความชื้นและเป็นการสร้างอินทรียวัตถุที่จะช่วยดูดซับปุ๋ยที่ใส่ลงไปบนกองทางใบ ไม่ให้ถูกชะล้างไปกับฝน ล้วนเป็นวิธีการที่ช่วยส่งเสริมให้ต้นพืชเติบโตได้ดีขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัด


ที่มา : สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์. 2550. เอกสารประกอบการสอน วิชา Transport process in plant. คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.
ที่มา : สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์. 2551. เอกสารประกอบการสอน วิชาสรีรวิทยาเบื้องต้นของพืช เรื่อง Plant water relation. คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.
ที่มา : เรื่อง อาณาจักพืช แหล่งที่มา: http://kingdomplant.blogspot.com, 6 กันยายน 2560
ที่มา : เรื่อง Water movement แหล่งที่มา: http://www.bio.miami.edu, 6 กันยายน 2560

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน