ปาล์มน้ำมัน คือ
หลายท่านคงสงสัยกันบ้างใช่ไหมครับว่า…ปาล์มน้ำมันที่เราเห็นปลูกๆกันอยู่นั้น คืออะไร? เค้าเอามาใช้ทำอะไรกัน? แล้วเจ้าปาล์มน้ำมันที่ว่านี้…มันมีประโยชน์อย่างไร? วันนี้ ซีพีไอ ไฮบริด มีคำตอบครับ

ปาล์มน้ำมัน คือ ?

ทะลาย ปาล์มน้ำมัน
ทะลาย ปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมัน นั้นมีชื่อสามัญว่า ปาล์มน้ำมัน (Oil palm)
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัด/แปรรูป นั้นคือ น้ำมันปาล์ม (crude palm oil)  เรียกโดยย่อว่า CPO

ปาล์มน้ำมัน ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Elaeis guineensis Jacq

ประวัติโดยย่อ
ปาล์มน้ำมันนั้นมีถิ่นกำเนิดเริ่มแรกในแถบแอฟริกาตะวันตก และได้แพร่หลายมายังภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก โดยเรียงลำดับช่วงปีได้ดังนี้

  • ราวปี พ.ศ. 2391 ชาวโปรตุเกสได้นำปาล์มน้ำมัน เข้ามาปลูกในทวีปเอเชีย โดยเริ่มปลูกครั้งแรกที่สวนพฤกษศาสตร์ เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย
  • ในช่วงปี พ.ศ. 2396-2400 จากนั้นปาล์มน้ำมันได้แพร่กระจายพันธุ์มายังเกาะสุมาตรา
  • ราวปี พ.ศ. 2413 ประเทศมาเลเซียได้เริ่มปลูกปาล์มน้ำมันครั้งแรกที่สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ต่อมาได้รับความสนใจและมีการค้นคว้าวิจัยครั้งแรกในรัฐเซลังงอ
  • เมื่อปี พ.ศ. 2454 ประเทศอินโดนีเซียเริ่มปลูกปาล์มน้ำมันเป็นการค้าอย่างจริงจัง และในปี พ.ศ. 2461 มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในเกาะสุมาตรา 22,500 ไร่
  • ในปี พ.ศ. 2460 ประเทศมาเลเซียได้เริ่มปลูกเป็นการค้าครั้งแรก

แหล่งผลิตใหญ่ของโลก
ประเทศที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุด คือ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันรวมกันประมาณ 34.04 ล้านไร่ (คิดเป็น 80 % ของผลผลิตปาล์มน้ำมันของโลก)

ปลูกปาล์มน้ำมัน, วิธีปลูกปาล์ม, การปลูกปาล์ม

แหล่งปลูกในปัจจุบัน
ปัจจุบันการปลูกปาล์มน้ำมันได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย,  อินโดนีเซีย,  ไนจีเรีย, ไทย,  โคลัมเบีย,  อินเดีย  และแหล่งปลูกใหม่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า  กัมพูชา

ประเภทของปาล์มน้ำมัน
จำแนกตามลักษณะผล มี 3 แบบ คือ ดูรา พิสิเฟอรา และเทเนอรา

(อ่านบทความฉบับเต็ม “ปาล์มน้ำมัน มีกี่สายพันธุ์? พันธุ์อะไรบ้าง? แต่ละพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร”)

อายุการเก็บเกี่ยว

เริ่มให้ผลอายุ 30 เดือน (นับจากวันที่ปลูกลงแปลง) และมีขนาดทะลายโตเต็มที่ อายุ 5 ปีขึ้นไป  (ขนาดทะลายควรมีน้ำหนักเฉลี่ยมากกว่า 15 กก./ทะลาย)

รอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ประมาณ 15 วันต่อครั้ง 

อายุการเก็บเกี่ยวของปาล์มน้ำมัน
ประมาณ 25 ปี
 
ความสูงของต้นปาล์มน้ำมัน
ความสูงเพิ่มเฉลี่ย 20 – 50 ซม.ต่อปี  แต่การปลูกเพื่อการค้าต้องการปาล์มน้ำมันที่สูง ประมาณ 15 – 18 เมตร 

ระยะห่าง(เนื้อที่)ในการปลูก
ปลูกเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะ 9 x 9 x 9 เมตร
จำนวนต้นปลูกเฉลี่ย  22.8 ต้นต่อไร่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ภาพแสดงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ ปาล์มน้ำมันแอฟริกา
ขอบคุณภาพจาก : en.wikipedia.org
  • ราก ปาล์มน้ำมันมีระบบรากฝอย ปาล์มน้ำมันที่โตเต็มที่ ประกอบด้วย รากแรก สอง สามและสี่ แตกแขนงออกมาตามลำดับ สานกันอย่างหนาแน่นระดับลึกลงดิน 30-50 ซม.
  • ลำต้น ปาล์มน้ำมันมีความสูงได้มากกว่า 30 เมตร และมีอายุยืนนานมากกว่า 100 ปี แต่การปลูกปาล์มน้ำมันทางการค้า ไม่ควรมีความสูงเกิน 15 – 18 เมตร หรืออายุประมาณ 25 ปี
  • ใบ ใบของปาล์มน้ำมันเป็นใบประกอบรูปขนนก (pinnate) แต่ละใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนแกนกลางที่มีใบย่อยอยู่ 2 ข้าง และส่วนก้านทางใบ แต่ละทางใบมีใบย่อย 100-160 คู่ แต่ละใบย่อยยาว 100-120 ซม. กว้าง 4-6 ซม.
  • ดอก ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชผสมข้าม มีดอกเพศเมียและดอกเพศผู้แยกช่อดอกภายในต้นเดียวกัน (monoecious) เมื่อดอกเจริญเต็มที่ช่อดอกย่อยตัวผู้มีขนาดยาว 10-20 ซม. หนา 0.8-1.5 ซม.  มีลักษณะคล้ายนิ้วมือ
    ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ช่อดอกจะพัฒนาเป็นช่อดอกเพศเมียเป็นส่วนใหญ่ ช่อดอกตัวเมียจะพัฒนาไปเป็นทะลายที่สุกแก่เต็มที่ สามารถเก็บเกี่ยวได้
  • ทะลาย ทะลายปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย ก้านทะลาย ช่อทะลายย่อย และผล ในแต่ละทะลายมีปริมาณผล 45 -70% ทะลายปาล์มน้ำมันเมื่อสุกเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 1 – 60 กก.
  • ผล ผลปาล์มน้ำมันไม่มีก้านผล (sessile drup) รูปร่างมีหลายแบบ ทั้งแบบเรียวแหลม รูปไข่ หรือรูปยาวรี ความยาวผลอยู่ระหว่าง 2-5 ซม. น้ำหนักผล 3-30 กรัม ผลปาล์มประกอบด้วยผิวเปลือกนอก (exocarp) ชั้นเปลือกนอก (mesocarp) เป็นเนื้อเยื่อเส้นใย สีส้มแดงเมื่อสุกและมีน้ำมันอยู่ในชั้นนี้

ทะลาย ปาล์มน้ำมัน

ประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน

   ปาล์มน้ำมัน นั้นมีคุณประโยชน์มากมาย โดยน้ำมันปาล์มนั้นได้จาก 2 ส่วนของปาล์ม คือ ส่วนเปลือกนอกประมาณ  16-25 % ของน้ำหนักทะลาย และส่วนเนื้อในประมาณ 3-5 % ของน้ำหนักทะลาย นอกจากนี้ทุกๆ ส่วนของปาล์มน้ำมัน ยังนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมพลังงาน เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน นั้นเกิดจากการกระบวนการแปรรูปซึ่งได้ผลที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้กากอุตสาหกรรมจากกระบวนการแปรรูปปาล์มน้ำมันยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ขอแยกประโยชน์จากส่วนต่างๆของปาล์มน้ำมัน ได้ดังนี้

  1. น้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil)
    1.1 ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่น น้ำมันปาล์มดิบ นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อุตสาหกรรมการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนยเทียม ไอศกรีม นมข้นหวาน สบู่ เป็นต้น
    1.2 ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกไขปาล์มบริสุทธิ์ออกจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (RPO) ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวกับการทอดทุกชนิด เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารทอดสำเร็จรูป อุตสาหกรรมการผลิตเนยเทียม เนยขาว ครีมฉาบหน้าขนม ฯลฯ
    1.3 ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังจากการกลั่น น้ำมันปาล์มดิบ ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตสบู่ อุตสาหกรรมโอลีโอเคมีคอล การผลิตวิตามิน E รวมถึง อุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซล
  2. น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (Palmkernel oil)
    2.1 ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่น น้ำมันเมล็ดในปาล์ม ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตสบู่ อุตสาหกรรมอาหาร เช่น นมข้นหวาน ไอศกรีม เนยขาว ฯลฯ  ใช้ในอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีคอล อุตสาหกรรมโอลีโอเคมีคอล รวมถึง
    อุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซล
    2.2 ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกไขปาล์มบริสุทธิ์ออกจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเนยเทียม เนยขาว ครีมฉาบหน้าขนม ฯลฯ รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตสบู่โอลีโอเคมีคอล
    2.3 ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังจากการสกัดน้ำมันออกจากเมล็ดในปาล์ม  ได้กากเมล็ดในปาล์ม ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
  3. ทะลายปาล์มเปล่า (Empty Bunch) สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำ
  4. เส้นใย (Fiber) สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำ
  5. กะลา (Shell) สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำ
  6. น้ำเสีย จากกระบวนการแปรรูปปาล์มน้ำมัน สามารถหมุนเวียนนำมาผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
  7. กากตะกอนน้ำมัน (Cake Decanter) สามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์
  8. ใบปาล์ม/ทางใบ ใช้ประโยชน์ในการคลุมผิวดินภายในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อรักษาความชื้นในดิน นอกจากนี้ หลัง 6 เดือน ทางใบจะย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์วัตถุที่เป็นประโยชน์ต่อต้นปาล์มน้ำมันได้อีกด้วย

   จะเห็นได้ว่า ปาล์มน้ำมัน นั้นมีประโยชน์ตลอดแทบทั้งกระบวนการแปรรูปและสกัดน้ำมันปาล์ม ที่นี้เรามาดูกันครับว่ากระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น เค้าทำกันอย่างไร…เชิญชมวิดิโอคลิปด้านล่างนี้ได้เลยครับ

กบนอกกะลา – น้ำมันปาล์มมาจากไหน (ตอน2/4)

 

กบนอกกะลา – น้ำมันปาล์มมาจากไหน (ตอน3/4)


อ้างอิง :
– บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)
– กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน