สายพันธุ์ปาล์มน้ำมัน
   เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน เคยสงสัยหรือไม่ครับว่า ระหว่าง คำว่า “พันธุ์’ และ “สายพันธุ์’’  มันมีความหมายเหมือนกันหรือไม่ แล้วสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันมีกี่สายพันธู์ แต่ละสายพันธุ์มีที่มาที่ไป จุดเด่น-จุดด้อย อย่างไร..วันนี้ ซีพีไอไฮบริด มีคำตอบครับ…ก่อนอื่นมาเข้าใจกับคำว่า “พันธุ์’’ กับคำว่า “สายพันธุ์’’ กันก่อนครับว่ามันคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

“พันธุ์’’

จะใช้เรียกชื่อปาล์มน้ำมันเป็นลูกผสม

“สายพันธุ์’’

จะใช้เรียกชื่อสายพันธุ์พ่อ-แม่พันธุ์

 

สายพันธุ์ปาล์มน้ำมัน ยอดนิยม

ปัจจุบันมีสายพันธุ์เยอะมาก แล้วแต่ว่าผู้ผลิตหรือนักปรับปรุงพันธุ์จะตั้งชื่อให้กับสายพันธุ์พ่อ-แม่ ว่าอย่างไร ในบทความนี้จะขอแบ่ง”สายพันธุ์ปาล์มน้ำมัน” เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. สายพันธุ์แม่

1.1 สายพันธุ์แม่ Deli Dura เป็นสายพันธุ์แม่ที่นิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด แหล่งพันธุ์นี้มีประวัติว่าได้นำมาจากทวีปแอฟริกา เมื่อปี 1848 โดยระยะแรกได้เริ่มต้นปลูกที่สวนพฤกษศาสตร์ที่เมือง Deli ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 4 ต้น หลังจากนั้นได้เริ่มนำไปปลูกที่เกาะสุมาตรา และอีกส่วนหนึ่งปลูกที่เมือง Deli  จากการคัดเลือกได้ต้นที่มีลักษณะดี จึงเรียกชื่อว่า Deli Dura ตามชื่อเมือง
ลักษณะสำคัญของสายพันธุ์แม่ Deli Dura นี้คือ ให้ผลผลิตทะลายสดสูง และสม่ำเสมอ ผลผลิตน้ำมันสูง ซึ่งในประเทศมาเลเซียก็เลือกใช้สายพันธุ์แม่ Deli Dura เป็นหลักในการผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น Serdang Dura, Ulu Remis, Johor Labis เป็นต้น

1.2 สายพันธุ์แม่ Dumpy Dura เป็นสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีลักษณะต้นเตี้ย ลำต้นและทะลายใหญ่ การติดผลสูง ซึ่งมักนิยมใช้เป็นแม่พันธุ์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ในประเทศอินโดนีเซีย สายพันธุ์นี้มีประวัติพันธุ์ว่าได้คัดเลือกต้นมาจากกลุ่มพันธุ์ Deli Dura ที่มีลักษณะเตี้ย

1.3 สายพันธุ์แม่ African Dura สายพันธุ์ปาล์มน้ำมันนี้เป็น พันธุ์แม่ดูราที่มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกา แม้จะเป็นที่นิยมใช้เป็นแม่พันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์ แต่แม่พันธุ์ชนิดนี้มีข้อด้อย คือ ลำต้นสูงเร็ว และขนาดทะลายเล็ก

ปัจจุบัน การปรับปรุงพันธุ์โดยผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์แม่ต่างๆ เพื่อปรับปรุงลักษณะให้ดียิ่งขึ้น แต่บางครั้งก็ยังยึดติดกับการเรียกชื่อสายพันธุ์แม่แบบเดิมๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วพันธุกรรมของสายพันธุ์แม่ตั้งแต่เริ่มต้นนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากการคัดเลือกสายพันธุ์และผสมข้ามสายพันธุ์ ดังเช่น สายพันธุ์แม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่นี้โดยการคัดเลือกสายพันธุ์จากสภาพแวดล้อมที่มีช่วงแล้งต่อเนื่องนาน 3-5 เดือน ภายใต้ชื่อสายพันธุ์ “ChumPhon DURA” ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์โดย บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด

2. สายพันธุ์พ่อ

2.1 สายพันธุ์พ่อ AVROS เป็นพันธุ์ที่ใช้เป็นพันธุ์พ่อ โดยสถาบัน AVROS ประเทศอินโดนีเซียได้รับมาจากสวนพฤกษศาสตร์ Eala ประเทศแซร์ คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ดีเด่น เรียกว่า SP 540 ที่มีลักษณะดี ซึ่งใช้เป็นพ่อพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์ และผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม Deli x AVROS ลูกผสม Deli x AVROS มีลักษณะต้นสูงเร็ว กะลาบาง ผลเป็นรูปไข่ และให้ผลิตน้ำมันสูงและมีลักษณะต่างๆ ค่อนข้างสม่ำเสมอ

2.2 สายพันธุ์พ่อ Yangambi เป็นสายพันธุ์พ่อที่มีพันธุกรรมใกล้ชิดกับ สายพันธุ์พ่อ AVROS มีถิ่นกำเนิดในประเทศแซร์ ในทวีปแอฟริกา ดังนั้นลักษณะ ลูกผสมที่มีพันธุ์พ่อกลุ่ม Yangambi จะมีลักษณะคล้ายลูกผสมที่มีพันธุ์พ่อจากกลุ่มพันธุ์ AVROS

2.3 สายพันธุ์พ่อ Ekona เป็นพันธุ์ที่มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ในประเทศแคเมอรูน มีบางสายพันธุ์ต้านทานต่อโรค vascular wilt ได้ดี ลักษณะของสายพันธุ์พ่อ Ekona จะมีลักษณะต้นเตี้ย และให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูงกว่าพันธุ์จากกลุ่มอื่นๆ แต่ผลผลิตน้ำมันด้อยกว่าลูกผสม Deli x AVROS เล็กน้อย

2.4 สายพันธุ์พ่อ Ekona ได้จากการรวบรวมเชื้อพันธุ์จากเมือง Bamenda ซึ่งเป็นเขตที่สูง อากาศหนาวเย็น ลักษณะของปาล์มน้ำมันพันธุ์นี้ จึงมีการปรับตัวกับสภาพอุณหภูมิต่ำได้

2.5 สายพันธุ์พ่อ Calabar มีถิ่นกำเนิดเดิมจาก CALABAR ประเทศไนจีเรีย ในทวีปแอฟริกา ลูกผสมที่เกิดจากสายพันธุ์พ่อ Calabar จะพบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพฝนตกชุก ความชื้นสูง และในสภาพที่แสงแดดน้อย มีลักษณะสีผลปาล์มเป็นแบบ virescens (ผลดิบมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีส้มเมื่อสุก)

2.6 สายพันธุ์พ่อ La Me มีการปรับปรุงพันธุ์ที่เมือง La Me ประเทศโกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์) ในทวีปแอฟริกา ลักษณะของลูกผสมที่มีพ่อพันธุ์เป็นกลุ่ม La Me จะมีต้นเตี้ย ผลเล็ก มีลักษณะเป็นรูปหยดน้ำ ทะลายมีขนาดเล็ก กะลาหนากว่าลูกผสมอื่นๆ ขนาดเมล็ดในเล็ก แต่เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ลักษณะเด่น คือ ก้านทะลายยาวทำให้การเก็บเกี่ยวง่าย สถาบัน CIRAD (IRHO) ประเทศโกตดิวัวร์ ผลิตลูกผสม Deli x La Me จำหน่าย

2.7 สายพันธุ์พ่อ Tanzania พันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดเดิมจากประเทศแทนซาเนีย ในทวีปแอฟริกา และเชื้อพันธุ์นี้ในประเทศไทยได้รับมาจากเมือง Kigoma ลักษณะเด่นที่ปรากฏ คือ กะลาบาง

“สายพันธุ์พ่อ” ก็เช่นเดียวกับสายพันธุ์แม่ ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี มีการคัดเลือกและผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์พ่อ ทำให้ลักษณะต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยเหตุนี้ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด จึงได้ตั้งชื่อสายพันธุ์พ่อที่ผ่านการคัดเลือกและพัฒนามาจากสภาพแวดล้อมที่แล้งติดต่อกันนาน 3-5 เดือน ภายใต้ชื่อ “ChumPhon Pisifera”

ต้นกล้า, พันธุ์ปาล์มน้ำมัน, ต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมัน, พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ดีที่สุด
ต้นกล้า, พันธุ์ปาล์มน้ำมัน, ต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมัน, พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ดีที่สุด

   สำหรับคำถามที่ว่า “พันธุ์อะไรบ้าง” “สายพันธุ์อะไรบ้าง” พันธุ์และสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันนี้มีเยอะมากครับ เพราะแต่ละบริษัทก็จะตั้งชื่อพันธุ์เป็นของตนเอง เฉพาะใน ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และคอสตาริกา ก็นับไม่ถ้วนแล้วครับ แต่อย่างไรก็ตาม พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ผลิตออกมานั้น ส่วนมากจะเป็นลูกผสมเทเนอร่า (D x T) แต่มีการเรียกชื่อพันธุ์การค้าต่างกัน เช่น พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมซีพีไอ ไฮบริด” พันธุ์ลูกผสมโกลเด้นเทเนอรา พันธุ์ลูกผสมยูนิวานิช พันธุ์ลูกผสมซีหราด พันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1-8 เป็นต้น
   โดยในแต่ละพันธุ์ปาล์มน้ำมันนั้น จะมีความแตกต่างกันตรงที่ พันธุกรรม และสภาพแวดล้อมที่คัดเลือกพันธุ์ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่คัดเลือกพันธุ์ มีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้วัดว่าพันธุ์ลูกผสมที่ได้จะเป็นพันธุ์ปาล์มที่ทนแล้ง หรือเป็นพันธุ์ที่ชอบน้ำ

 

 


อ้างอิง :  ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี สังกัดกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

 

 

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน