
การย้ายต้นกล้า และดูแลรักษาต้นกล้าปาล์ม ช่วงย้ายปลูก
การย้ายต้นกล้า เกษตรกรชาวสวนปาล์มหลายท่านที่เคยเข้าไปซื้อกล้าปาล์มจากแหล่งจำหน่าย และบรรทุกต้นกล้าปาล์มกลับมาปลูกเอง แล้วต้องเผชิญกับกับสารพันปัญหาที่ทำให้ต้นกล้าของท่านเสียหายตั้งแต่ก่อนปลูก จนไปถึงลงปลูกไปไม่กี่วัน…วันนี้ ซีพีไอ มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ท่าน ได้รับต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ และเผยวิธีการดูแลรักษาต้นกล้าให้ถูกวิธี จะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
1. ตรวจสอบจำนวนและความสมบูรณ์ของต้นกล้า
โดยตรวจนับจำนวนกับทางเจ้าหน้าที่ก่อนขนขึ้นรถ หากไม่ครบหรือพบลักษณะต้นผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่คัดออกทันที
2. ตัดปลายใบต้นกล้าที่สูงมากกว่า 150 ซม. ออกไป
ถ้าความสูงมากกว่า 150 เซนติเมตร เสนอให้ตัดส่วนปลายใบตรงกลาง 2-3 ใบ ที่สูงมากกว่า 150 เซนติเมตร ออกไป เพื่อลดการคายน้ำและไม่ให้ยอดหักในกรณีขนย้าย

3. ใช้ตาข่ายพรางแสง(ซาแรน) คลุมต้นกล้า ขณะขนย้าย
เพื่อป้องกันไม่ให้ปลายใบโดนลมที่จะส่งผลให้ปลายใบแห้ง
4. วางเรียงแถวให้เป็นระเบียบ รดน้ำให้ชุ่ม
• วางเป็นแถวให้สามารถนับจำนวนได้ และระหว่างแถวให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ 60 – 80 เซนติเมตร ในแถวสามารถวางถุงชิดได้ (การวางในที่ร่มจะช่วยลดการคายน้ำได้)
• การให้น้ำโดยใช้สายยางเดินรดหรือแบบหัวสปริงเกอร์ ให้น้ำ เช้า-เย็น อย่างน้อย 1.5 ลิตร/ต้น/ครั้ง ถ้ามีฝนตกก็ให้สังเกตุดูดินในถุงเป็นหลัก
• ต้นกล้าที่วางชิดกันเกินไปจะส่งผลให้อากาศไม่ถ่ายเท การให้น้ำไม่ทั่วถึงจะทำให้ใบแห้งและเกิดเชื้อราตามมา
5. สังเกตความชื้นของดินหลังย้ายปลูก
ถ้ามีความชื้นน้อย ควรมีการให้น้ำหลังปลูก 2-3 วัน/ครั้ง หรือจนกว่าฝนจะตก อย่างไรก็ตามอากาศที่แห้ง ความร้อนและลม จะส่งผลให้การคายน้ำเพิ่มขึ้น ควรสังเกตุดูความชื้นและลักษณะของต้นกล้าอย่างใกล้ชิด ในช่วงเดือนแรกนับจากวันย้ายปลูก
6. คลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นในดิน
การหาเศษวัสดุมาคลุมรอบโคน จะช่วยรักษาความชื้นหน้าดินได้
หากเป็นไปได้ ควรนำทะลายเปล่าหรือเศษวัสดุอื่
7. ตรวจสอบการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ
• ด้วงกุหลาบ การป้องกันกำจัด ใช้สารฆ่าแมลงประเภท carbaryI (Sevin 85% WP) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ carbosulfan (Posse 20% EC) อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 – 10 วัน ในตอนเย็นทั้งใบและบริเวณโคนต้น

• ด้วงแรด มีหลายวิธีในการกำจัด ยกตัวอย่างโดยใช้สารฆ่าแมลง carbofuran (Furadan 3 % G) อัตรา 200 กรัมต่อต้น ผสมทรายใส่รอบยอดอ่อน

• หนู ควรใช้วิธีการป้องกันกำจัดโดยวิธีผสมผสาน ดังนี้
ช่วงย้ายปลูกควรใช้ตาข่ายหุ้มรอบโคนต้นปาล์ม เพื่อชะลอหรือขัดขวางไม่ให้หนูกัดต้นปาล์มได้สะดวก, การล้อมตี, การดัก โดยใช้กรงดักและกับดักชนิดต่างๆ หมั่นถางหญ้ารอบต้นปาล์ม หรือแหล่งอาศัยบริเวณพื้นที่โดยรอบ เพื่อไม่ให้เป็นที่หลบกำบังและเป็นแหล่งขยายพันธุ์

• โรคจากเชื้อรา Curvularia การขยายของโรคขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่มีความชื้นสูง เช่น อากาศปิด, ฝนตกต่อเนื่องมากกว่า 7 วัน, การระบายอากาศภายในแปลงไม่ดี เป็นต้น
อาการของโรคนี้เกิดจากเชื้อรา Curvularia oryzae จะไม่มีรุนแรงถึงขั้นทำให้ต้นกล้าปาล์มตาย แต่จะมีผลต่อการเจริญเติบโตในช่วง 3 เดือนแรกหลังพบการระบาด และจะหายไปเองเมื่ออายุ 3 – 6 เดือน โดยให้สังเกตุดูใบปาล์มที่ขึ้นมาใหม่จะมีจุดน้อยลงจนกระทั่งไม่มีรอยดังกล่าว
