ด้วงแรด ศัตรูปาล์มน้ำมัน ตัวฉกาจ

 


ชื่ออื่น –
ชื่อสามัญ Coconut Rhinoceros Beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oryctes rhinoceros L.,Oryctes gnu Mohner
ชื่อวงศ์ Scarabaeodae
ชื่ออันดับ Coleoptera

 

 

ผลกระทบต่อปาล์มน้ำมัน

ด้วงแรด, แมลงศัตรูปาล์มน้ำมัน
ด้วงแรดแมลงศัตรูปาล์มน้ำมัน

ด้วงแรด เป็นแมลงที่สำคัญของมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน มี 2 ชนิด คือ ด้วงแรดชนิดเล็ก ชื่อ Oryctes rhionoceros L.พบทั่วทุกภาคของประเทศไทยและพบบ่อยที่สุด อีกชนิดหนึ่ง คือ ด้วงแรดชนิดใหญ่ ชื่อ Oryctes gnu Mohner มักพบไม่บ่อยนัก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปทางภาคใต้ของประเทศ ในปาล์มน้ำมันเริ่มมีความสำคัญมากเพราะเริ่มมีการโค่นล้มต้นปาล์มอายุมากและปลูกทดแทนใหม่ ทำให้มีแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรดมากขึ้น ประชากรของด้วงแรดจึงเพิ่มมากขึ้น และเข้าทำลายต้นปาล์มที่ปลูกใหม่ ตั้งแต่ต้นปาล์มน้ำมันขนาดเล็กจนถึงต้นปาล์มน้ำมันให้ผลผลิต สำหรับต้นปาล์มน้ำมันขนาดเล็ก โอกาสทำให้ต้นผิดปกติและตายมีมากที่สุด ปกติด้วงแรดไม่สามารถเกิดการระบาดได้เลย เหตุที่เกิดการระบาด อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากความละเลยของมนุษย์ที่ปล่อยให้มีแหล่งขยายพันธุ์จำนวนมาก ทำให้ด้วงแรดเพิ่มปริมาณมากจนเข้าทำลายพืชให้ได้รับความเสียหาย สาเหตุที่เกิดเองตามธรรมชาติน้อยมาก การเกิดวาตภัย เช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์ ทำให้ต้นมะพร้าวและปาล์มน้ำมันล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์ขนาดใหญ่ของด้วงแรดในเวลาต่อมา

ลักษณะการทำลาย


ตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบ ทำให้ทางใบหักง่าย และกัดเจาะทำลายยอดอ่อน ทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้ว ๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม ถ้าโดนทำลายมาก ๆ ทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดโรคยอดเน่า จนถึงต้นตายได้ในที่สุด

ด้วงแรด, ศัตรูปาล์มน้ำมัน, แมลงทำลายปาล์ม, Coconut Rhinoceros Beetleแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด

แหล่งขยายพันธุ์ได้แก่ ซากเน่าเปื่อยของลำต้นหรือตอของต้นปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว ซากพืชที่เน่าเปื่อยเช่น ซากทะลายปาล์ม กองมูลสัตว์เก่า กองปุ๋ยคอก กองขุยมะพร้าว กองกากเมล็ดกาแฟ กองขยะ เป็นต้น แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้เป็นสถานที่ผสมพันธุ์ วางไข่ และแหล่งอาหารของหนอนวัยต่าง ๆ จนเข้าดักแด้และเป็นตัวเต็มวัย

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

รูปร่างลักษณะ
ด้วงแรดชนิดเล็กและด้วงแรดชนิดใหญ่มีรูปร่างลักษณะและชีวประวัติคล้ายคลึงกันมาก ต่างกันเพียงขนาดของลำตัว และขอบของแผ่น ปกคลุมด้านหลังของส่วนอกซึ่งมีลักษณะคล้ายฟันเล็ก ๆ ด้วงแรดชนิดใหญ่มี 3 ซี่ ด้วงแรดชนิดเล็กมี 2 ซี่
ไข่
มีลักษณะกลมรี สีขาวนวล มองเห็นได้ชัดขนาดกว้าง 2-3 มม. ยาว 3-4 มม. เมื่อใกล้ฟักไข่จะมีสีน้ำตาลอ่อน ไข่ถูกวางลงลึกไปประมาณ 5-15 ซม. ในแหล่งขยายพันธุ์ที่ผุพัง

หนอน


จากซ้ายไปขวา ไข่ หนอนวัย 1 หนอนวัย 2 หนอนวัย 3


ระยะดักแด้

เมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆ มีลำตัวสีขาว ขนาด 2 x 7.5 มม. หัวกะโหลกสีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ 2 – 2.5 มม. มีขาจริง 3 คู่ ด้านข้างลำตัวมีรูหายใจจำนวน 9 คู่ เมื่อหนอนกินอาหารแล้วผนังลำตัวจะมีลักษณะโปร่งใส มองเห็นภายในสีดำ เมื่อหนอนลอกคราบครั้งที่ 1 หัวกะโหลกจะมีสีขาวนวล กว้างประมาณ 4.5 มม. ต่อมาหัวกะโหลกมีสีน้ำตาลแดง ขนาดลำตัวประมาณ 4.5 x 2.5 มม. ลักษณะลำตัวหนอนเหมือนเดิม เมื่อหนอนเจริญเติบโตขึ้นจะลอกคราบครั้งที่ 2 ทำให้เห็นหัวกะโหลกกว้างประมาณ 10 มม. ขนาดลำตัวประมาณ 11 x 50 มม. ลำตัว
สีขาวเข้ม เห็นรูหายใจข้างลำตัวสีน้ำตาลเด่นชัด มีขนสีน้ำตาลขึ้นอยู่ทั่วลำตัวเด่นชัดเช่นกัน หนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 60 – 90 มม.

ดักแด้
เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะหยุดกินอาหารและสร้างรังเป็นโพรง หนอนจะ หดตัวอยู่ภายในเป็นเวลา 5 – 8 วัน จึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้ แบบ exarate มีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 22 x 50 มม. สามารถแยกเพศได้ โดยดักแด้เพศผู้เห็นส่วนที่เป็นระยางค์คล้ายเขายื่นยาวชัดเจนกว่าของเพศเมีย

ด้วงแรด, ศัตรูปาล์มน้ำมัน, แมลงทำลายปาล์ม, Coconut Rhinoceros Beetleตัวเต็มวัย
เป็นด้วงปีกแข็งสีดำ เป็นมันวาว ใต้ท้องสีน้ำตาลแดง มีขนาดกว้าง 20 – 23 มม. ยาว 30 – 52 มม. สามารถแยกเพศได้โดยตัวเต็มวัยเพศผู้มีเขาลักษณะคล้ายเขาแรด อยู่บนส่วน หัวยาวโค้งไปทางด้านหลังขณะที่เขาของตัวเต็มวัยเพศเมียสั้นกว่า และบริเวณท้องปล้องสุดท้ายของเพศเมียสีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่นกว่าของเพศผู้

ชีวประวัติ
ระยะไข่ 10 – 12 วัน
ระยะหนอน 80 – 150 วัน
ระยะดักแด้ 23 – 28 วัน
ระยะตัวเต็มวัย 90 – 180 วัน
หนอนมีการลอกคราบ 2 ครั้ง 3 วัย

วงจรชีวิต
ตั้งแต่ไข่จนถึงดักแด้ออกเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 4 – 9 เดือนโดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ดังนั้น ใน 1 ปี ด้วงแรดจึงมี 2 รุ่น (generation)

การผสมพันธุ์และปริมาณการวางไข่
ด้วงแรดมีอายุยืนยาวหลายเดือน จึงมีการผสมพันธุ์หลายครั้งตลอดอายุขัย จากรายงานพบว่าด้วงแรดเพศเมียรับการผสมพันธุ์สูงสุดถึง 8 ครั้ง แต่ยังพบว่าด้วงแรดเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์ครั้งเดียว สามารถวางไข่ที่สมบูรณ์ได้นานถึง 130 วันด้วงแรดชอบวางไข่ในแหล่งขยายพันธุ์ที่มีความชื้นพอเหมาะที่อุณหภูมิระหว่าง 20 – 30 0C ด้วงแรดเพศเมียจะรับการผสมพันธุ์และวางไข่ เมื่อออกจากดักแด้แล้วประมาณ 40 – 50 วัน วางไข่ครั้งละประมาณ 10 – 30 ฟอง วางไข่ได้สูงสุดประมาณ 152 ฟอง

พฤติกรรมต่าง ๆ ของด้วงแรด

หนอนวัยต่าง ๆ ดักแด้ และไข่ ชอบซุกซ่อนตัวเอง จึงพบอยู่ในแหล่งที่ไม่มีแสงสว่าง แต่ตัวเต็มวัยของด้วงแรดเท่านั้นที่ทำลายพืชสด มักพบในแหล่งที่เป็นอาหาร เช่น ภายในรูที่เจาะกินยอดปาล์มน้ำมัน อาจพบมากกว่า 1 ตัว นอกจากนี้ยังพบในแหล่งขยายพันธุ์อีกด้วย ด้วงบินออกหากินในเวลาพลบค่ำและเวลาก่อนตะวันขึ้น มักพบด้วงแรดมาเล่นไฟนีออนหลังฝนตก ในเวลากลางคืนด้วงแรดมักบินไปมาในระยะทางสั้นๆ ระหว่างแหล่งที่เป็นอาหาร และที่เป็นแหล่งขยายพันธุ์เท่านั้น ด้วงแรดสามารถบินได้นาน 2 – 3 ชั่วโมง และเป็นระยะทางไกล 2 – 4 กิโลเมตร

ด้วงแรด, ศัตรูปาล์มน้ำมัน, แมลงทำลายปาล์ม, Coconut Rhinoceros Beetleดักแด้
มักพบในแหล่งขยายพันธุ์ที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าพบในซากท่อนมะพร้าว ปาล์มน้ำมันที่ผุพัง หนอนวัยสุดท้ายจะสร้างเป็นโพรงรูปไข่เพื่อเข้าดักแด้ แต่ถ้าอยู่ในกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กากกาแฟ กองขี้เลื่อย กองขยะ กองเศษพืชที่เน่าเปื่อย หนอนวัยสุดท้ายจะสร้างรัง (cocoon) ด้วย วัสดุเหล่านั้นเป็นก้อนรูปไข่ขนาดใหญ่ และหนอนเข้าดักแด้อยู่ภายใน ยังพบหนอนเข้าดักแด้ในดินอีกด้วย มีรายงานว่าพบดักแด้ลงใต้ดินลึกถึง 150 ซม และมักพบตัวเต็มวัยที่ออกจากดักแด้ จะอาศัยอยู่ในรังดักแด้อีกประมาณ 11 – 20 วัน จึงจะออกมาหากินต่อไป

หนอน
ลักษณะหนอนของด้วงแรดสามารถสังเกตได้อย่างหนึ่ง คือหนอนจะงอตัวเสมอเป็นอักษรซี บางครั้งเห็นส่วนหัวกับส่วนท้ายลำตัวเกือบชนกัน หนอนถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมอาจมีอายุยืนยาวถึง 420 วัน

พืชอาหาร
สกุลปาล์มน้ำมันทุกชนิด เช่นมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ปาล์มประดับ

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
ด้วงแรดเกิดแพร่กระจายทั่วประเทศและตลอดปี สำหรับปริมาณจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งขยายพันธุ์

ศัตรูธรรมชาติ
พบโรคที่สามารถทำลายด้วงแรด ดังนี้
1. เชื้อราเขียว ชื่อ Metarrhizium anisopliae (Metsch) Sorokin สามารถทำลายหนอน ด้วงแรด โดยมีสีขาวจับเป็นก้อนอยู่ภายนอกตัวหนอน ต่อไปจะเกิดโคนีเดียสีเขียวทำให้เห็นหนอนมีสีเขียวและตายในที่สุดเชื้อรานี้อาจทำลายดักแด้และตัวเต็มวัยได้ด้วย
2. เชื้อไวรัส ชื่อ Rhabdionvirus oryctes Huger หรือเรียกว่า Baculovirus ทำลายตัว เต็มวัย หนอน ดักแด้ หนอนที่เป็นโรคไวรัสตาย สังเกตเห็นส่วนของก้น (rectum) จะพองโตยื่นออกมา

การป้องกันกำจัดด้วงแรด
พบโรคที่สามารถทำลายด้วงแรด ดังนี้
1. โดยวิธีเขตกรรม คือการกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อย สะดวกในการทำเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่หนอน ดักแด้และตัวเต็มวัย ไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยยึดหลักว่าไม่ควรปล่อยให้แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้ทิ้งไว้นานเกิน 3 เดือน โดยปฏิบัติดังนี้
1.1 เผาหรือฝังซากลำต้นหรือตอของปาล์มน้ำมันหรือมะพร้าว
1.2 เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม.
1.3 ถ้ามีความจำเป็นต้องกองนานเกินกว่า 2 – 3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกองเพื่อตรวจหาไข่ หนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัยเพื่อกำจัดเสีย
2. โดยวิธีกล หมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าวหรือปาล์ม ตามโคนทางใบ หากพบรอยแผลเป็นรูใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัดเสีย พร้อมใส่สารฆ่าแมลงป้องกันด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่
3. ใช้ฮอร์โมนเพศ เป็นกับดักล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย ขณะนี้สามารถสังเคราะห์และผลิตเป็นรูปการค้า มีชื่อว่า chrislure มาจากสารเคมีชื่อ ethyl dihydrochrysanthemumate และชื่อ rhinolure มาจากสารเคมีชื่อ ethyl chrysanthemumate
4. โดยใช้สารฆ่าแมลง carbofuran (Furadan 3 % G) อัตรา 200 กรัมต่อต้น ใส่รอบยอดอ่อน และซอกโคนทางใบถัดออกมา หรือสาร chlorpyrifos (Lorsban 40 % EC) อัตรา 80 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบยอดอ่อน และโคนทางใบถัดมา ต้นละประมาณ 1 ลิตรเดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้สาร carbaryl (Sevin 85 % WP) ผสมขี้เลื่อยในอัตรา สารฆ่าแมลง 1 ส่วนต่อ
ขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกโคนทางใบเดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้สารไล่ naphthalene ball (ลูกเหม็น) อัตรา 6 – 8 ลูก ต่อต้นโดยใส่ไว้ที่ซอกโคนทางใบ
5. โดยชีววิธี ในธรรมชาติจะมีเชื้อราเขียวและเชื้อไวรัสช่วยทำลายหนอนด้วงแรด จึงมีการพัฒนานำมาใช้ในการป้องกันกำจัด เช่น ใช้เชื้อราเขียว อัตรา 200 – 400 กรัมต่อกับดักขนาด 2 x 2 x 0.5 เมตร กับดักประกอบด้วย ซากเน่าเปื่อยของพืช ขี้วัว ขุยมะพร้าว กากกาแฟ และขี้เลื่อย เป็นต้น ผสมคลุกกันเพื่อให้ด้วงแรดมาวางไข่และขยายพันธุ์ จนถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายหนอน ดักแด้โดยจะมีลำตัวสีเขียวคล้ำและตายในที่สุด


เชื้อราเขียวทำลายหนอนด้วงแรด

แนวทางการบริหารด้วงแรดทำลายปาล์มน้ำมัน
การกำจัดที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ เช่น ซากทะลายปาล์มน้ำมัน ที่เหลือจากการสกัดน้ำมันแล้ว จะต้องกองทิ้งไว้ไม่เกิน 3 เดือน ควรเกลี่ยให้กระจายให้หนาประมาณ 15 ซม. ควรกำจัดซากต้นปาล์มที่ล้มตายในสวนให้หมด ถ้าพบ ไข่ หนอน ดักแด้ ของด้วงแรดควรจับมาทำลายการใช้ราเขียวในการกำจัดหนอนด้วงแรดในแหล่งขยายพันธุ์ ทำได้โดยทำกับดักกองปุ๋ยขนาด 2 x 2 x 0.5 เมตร เมื่อกองปุ๋ยเริ่มเปื่อยใส่เชื้อราเขียว 200 – 400 กรัม ต่อกับดักคลุกให้ทั่ว สามารถลดจำนวนด้วงแรดในสวนลงได้บ้าง

แหล่งขยายพันธุ์

กองซากทะลายปาล์มน้ำมัน

ลำต้นปาล์มล้มตาย

กองขุยมะพร้าว

กองกากกาแฟ

กองมูลสัตว์
ต้นมะพร้าวยืนตาย

แชร์บทความนี้

เพิ่มเราเป็นเพื่อน